วธ.อึ้งผลสำรวจเยาวชน ร้อยละ 51 ไม่เคยเข้าหอสมุดแห่งชาติ ไม่รู้จักศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เด็กจี้ให้แก้ปัญหาการแต่งกาย มั่วสุมอบายมุข ขายตัว สัมมาคารวะและภาษาไทย “ธีระ” แจงเตรียมปรับบทบาทเข้าถึงเด็กให้มากกว่านี้
นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า วธ.ได้สุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนจำนวน 7,602 คน อายุระหว่าง 10-12 ปีเพื่อทำการสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนที่มีต่อกระทรวงวัฒนธรรมประจำปี 2552 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-เม.ย.52 พบว่า
มีหน่วยงานสำคัญของ วธ.ที่เยาวชนรู้จักแต่ไม่เคยใช้บริการ ร้อยละ 51.7 ไม่เคยเข้ารับบริการหอสมุดแห่งชาติ ร้อยละ 59 ไม่เคยติดต่อกรมศิลปากร และร้อยละ 57.7 ไม่เคยติดต่อกรมศาสนา ส่วนหน่วยงานที่เด็กและเยาวชนไม่รู้จักเลย ได้แก่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร้อยละ 51.7 หอไทยนิทัศน์ ร้อยละ 50.8 และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร้อยละ 47
โดยเยาวชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าภาพลักษณ์ที่สะท้อนหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรม คือ ภาษาไทย ร้อยละ 89.2 ดูแลโบราณสถาน เช่้น วัด เจดีย์ โบสถ์ วิหาร พระราชวัง ร้อยละ 83.8 และการอนุรักษ์ประเพณีต่างๆ เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง ฯลฯ ร้อยละ 81.7
รมว.วัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เด็กและเยาวชนต้องการให้วธ.แก้ไขอย่างเร่งด่วน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ร้อยละ 64.7 ต้องการให้แก้ปัญหาการเผยแพร่ผลงานวัฒนธรรมให้ประชาชนรู้จักโดยเพิ่มการประชาสัมพันธ์ข่าวสารผ่านสื่อ รวมทั้งทำการรณรงค์การแต่งกายของไทยในโฆษณาต่างๆ 2.ร้อยละ 65.6 เรียกร้องให้แก้ไขอบายมุข การมั่วสุมของเด็กวัยรุ่น เช่น การดื่มสุรา ยาเสพติด ค้าประเวณี เที่ยวกลางคืน
โดยขอความร่วมมือกับสื่อในการให้ข่าวสารที่ไม่ยั่วยุหรือล่อแหลม ควรออกกฎห้ามมั่วสุมและจำหน่ายสุราแก่ผู้ปกครอง และตั้งศูนย์ป้องกันปัญหาเด็กสตรี และ 3.ร้อยละ 65.5 ต้องการให้แก้ไขปัญหาการใช้คำพูดศัพท์แสลง ซึ่งต้องแก้ด้วยการจัดอบรมเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยอย่างสม่ำเสมอ และผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างคำพูดที่สุภาพตลอดจนไม่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคาย
นอกจากนี้ สิ่งที่เด็กและเยาวชนกลุ่มตัวอย่างอยากให้ วธ.เร่งดำเนินการ 3 อันดับแรก คือ การไหว้และการมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ร้อยละ 66.5 การแต่งกายของวัยรุ่นและนักศึกษา ตลอดจนการแสดงออกต่อที่สาธารณะ ร้อยละ 65.6 และแก้ไขปัญหาวัยรุ่นอย่างจริงจัง ร้อยละ 65.6
นายธีระกล่าวว่า ตนมองว่าหลังจากนี้ วธ.จะต้องเร่งปรับปรุงบทบาทหน้าที่ของทุกหน่วยงานให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนมากกว่านี้ โดยเฉพาะบทบาทของ วธ.ในเรื่องการแก้ปัญหาร้านเกม เด็กติดเกม และการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนรับรู้หน้าที่ของกระทรวงที่รอบด้านมากขึ้น