xs
xsm
sm
md
lg

สภากาชาดผุดธนาคารผิวหนังแห่งแรกของไทย พร้อมเปิดบริการปลายปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภากาชาด เล็งผุดธนาคารผิวหนัง แห่งแรกในประเทศไทย ชี้ช่วยเหลือผู้ป่วยไฟไหม้ ลดความพิการ ลดต้นทุนใช้ผิวหนังมนุษย์แทนผิวหนังเทียม แถมมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง พร้อมดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้

ผศ.นพ.วิศิษฎ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กล่าวว่า สภากาชาดไทยมีโครงการจัดทำธนาคารผิวหนัง(skin bank) เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีระบบการรับบริจาคผิวหนังอย่างครอบวงจร โดยเพิ่งได้รับงบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 11 ล้านบาท ในการดำเนินการระยะแรก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบห้องปฏิบัติการ อยู่ที่ชั้น 6 ของอาคารอาสากาชาด โดยจะปรับปรุงเป็นห้องปลอดเชื้อ 100% และจัดซื้ออุปกรณ์ในการเก็บรักษาผิวหนัง ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด เพราะจะต้องเก็บไว้ในความเย็นต่ำที่สุดคือลบ 196 องศาเซลเซียส ขณะที่อุตสาหกรรมความเย็นได้สามารถทำความเย็นได้มากที่สุดเพียง ลบ 40 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีราคาแพงมาก ทั้งนี้ คาดว่าปรับปรุงแล้วเสร็จและพร้อมเปิดดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้

ผศ.นพ.อภิชัย อังสพันธ์ หน่วยศัลศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดำเนินงานของธนาคารผิวหนัง จะเป็นรูปแบบการขอรับบริจาคผิวหนัง เช่นเดียวกับการขอรับบริจาคอวัยวะหรือเนื้อเยื้อต่างๆ ซึ่งผิวหนังที่ได้รับบริจาคจะนำไปใช้รักษาให้กับผู้บาดเจ็บมีแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกกรุนแรง เนื่องจาก แผลไฟไหม้ผิวหนังชั้นนอกจะถูกทำลาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการติดเชื้อ และเกิดผังผืด ทำให้เกิดบาดแผล หดรั้งจนทำให้เกิดความพิการ ทางร่างกาย และเสี่ยงทำให้เสียชีวิต

“ผิวหนังมนุษย์สามารถช่วยป้องกันภาวะการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ รวมทั้งลการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี โดยมีความยืดหยุ่นปกป้องเนื้อเยื้อชั้นผิวแท้ไม่ให้ติดเชื้อได้ดีกว่าหนังเทียมที่มีราคาแพงกว่ามาก ซึ่งในต่างประเทศใช้ผิวหนังมนุษย์มารักษาอย่างแพร่หลาย แต่ในประเทศไทยมีการใช้ในวงจำกัดเพราะไม่มีระบบจัดเก็บที่เป็นมาตรฐาน” ผศ.นพ.อภิชัย กล่าว

ผศ.นพ.อภิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการรักษาบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แพทย์จะกำจัดผิวหนังที่ถูกทำลายออกไปให้หมด รักษาบาดแผลให้ปลอดเชื้อ เตรียมความพร้อมในการปลูกถ่ายผิวหนังลงไปทดแทน ในระหว่างนี้จะต้องใช้วัสดุปิดแผลชั่วคราวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทำให้แผลสมานตัว เมื่อผิวหนังเริ่มสร้างเซลล์ทดแทนจึงนำวัสดุปิดแผลออก ปัจจุบันวัสดุปิดแผลชั่วคราวที่ใช้อยู่แพร่หลายมีหลายชนิด ทั้งวัสดุชีวภาพ วัสดุสังเคราะห์ วัสดุวิศวกรรม มีลักษณะเป็นแผ่นฟิลม์สีขาวบางๆ แต่มีราคาแพง หากสามารถใช้ประโยชน์จากการบริจาคผิวหนังได้ ก็จะสามารถลดต้นทุนและช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น

“วิธีเก็บผิวหนังจากผู้บริจาค จะมีการไถผิวหนังชั้นนอกของผู้บริจาคออก จากนั้นนำไปแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ และทำการเพาะเชื้อเพื่อตรวจสอบว่าปลอดเชื้อโรค 100% หรือไม่ หากปลอดภัย จะนำมาบรรจุในถุงแช่ผิวหนังโดยเฉพาะต้องทนความเย็นสูง ผ่านทางเครื่องลดอุณหภูมิด้วยก๊าซไนโตรเจนเหลวลงที่ละ 1 องศาเซลเซียส จนถึงลบ 196 องศาเซลเซียส สามารถเก็บผิวหนังได้นาน 5 ปี แต่หากเก็บด้วยความเย็นเพียงลบ 4 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้นานเพียง 3 เดือนเท่านั้น และก่อนนำมาใช้รักษาบาดแผลจะต้องอุ่นผิวหนังให้ระดับอุณหภูมิปกติก่อน” ผศ.นพ.อภิชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น