xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” เสนอระบบบำนาญผูกพันกับการออมดูแลผู้สูงอายุในสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อภิสิทธิ์” ชี้ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไปจนถึงเส้นความยากจนที่ 1,443 บาท/คน/เดือน รัฐต้องหาทางเพิ่มรายได้ เสนอระบบบำนาญผูกพันกับการออมเพื่อประชาชนมีส่วนร่วม ด้าน “เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ” ค้านสุดตัวย้ำการบังคับออมเป็นการผลักภาระให้ประชาชนคนจน เสนอเก็บภาษีทรัพย์สิน มรดก สิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มรายได้จัดบำนาญประชาชน เรียกร้องรัฐบาลออกกฎหมาย “หลักประกันบำนาญประชาชนแห่งชาติ” ตั้งคณะทำงานจัดตั้งกองทุน “บำนาญประชาชน” โดยให้ภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วม

วันนี้ (8 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท องค์กรช่วยเหลือผู้สูงอายุระหว่างประเทศ (HelpAge International) ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ(UNFPA) และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการจัดประชุมเรื่อง “บำนาญทางสังคมเพื่อผู้สูงอายุไทยถ้วนหน้าและยั่งยืน” โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมทั้งกล่าวว่า การให้เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้นไม่ใช่เงินสงเคราะห์ แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับจากรัฐ โดยรัฐบาลต้องใช้งบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท/ปี และเข้าใจว่า เงิน 500 บาทนั้น เป็นจำนวนที่น้อยและต่ำกว่าเส้นความยากจนเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 1,443 บาท/คน/เดือน อยู่มาก แต่รัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการเพิ่มจำนวนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาโดยตลอด ตั้งแต่ 200 บาท จนปัจจุบัน 500 บาท ส่วนจะไต่ระดับไปจนถึงเส้นความยากจนนั้น จำเป็นต้องหาหนทางเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 1.5 แต่คงทำได้ยากในช่วงที่ประเทศได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงเสนออยากให้มีระบบบำนาญผูกพันกับการออม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่รอรับเงินจากรัฐเพียงอย่างเดียว และยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรับผิดชอบ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมีปัญหาที่ต้องแก้ไขเช่นกัน สำหรับประชาชนที่ไม่มีรายได้ประจำการออมก็จะกระทบซึ่งต้องหาแนวทางต่อไปว่าจะทำอย่างไรที่จะนำไปสู่กองทุนบำนาญได้ และการบังคับออมสำหรับคนยากจนจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากผู้ที่มีรายได้น้อยจริงๆ ก็อาจได้รับการยกเว้น อย่างไรก็ตามการออมเพื่อบำนาญชราภาพนั้นยังเป็นเพียงแนวคิดที่ยังไม่ตกผลึกจากผู้เกี่ยวข้องทุกด้าน แต่ก็ได้เดินหน้าเพื่อมอบหมายงานให้เริ่มดำเนินการแล้ว เพราะรัฐบาลถือว่าแนวคิดนี้มีความสำคัญต่ออนาคต และจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาว

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิภาพ กล่าวว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่จัดสวัสดิการผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าให้กับผู้สูงอายุทุกคนในจำนวน 500 บาทต่อเดือนไปตลอดชีวิต นับเป็นความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย แต่ทั้งนี้จากการศึกษาของสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) สำนักงานประกันสังคม และสำนักสถิติแห่งชาติ พบว่าการได้รับสวัสดิการชราภาพเป็นความต้องการลำดับที่ 2 รองจากสวัสดิการรักษาพยาบาล แต่สวัสดิการชราภาพมีความสามารถในการจ่ายที่ต่ำ ดังนั้นทางกลุ่มเครือข่ายฯ จึงเสนอให้มีการพัฒนาระบบสวัสดิการผู้สูงอายุที่รัฐบาลเริ่มดำเนินการมาแล้วในปัจจุบันให้เป็น “ระบบบำนาญประชาชนแห่งชาติ” โดยออกกฎหมายรองรับการจัดตั้งกองทุนบำนาญประชาชน ที่รับประกันว่าผู้สูงอายุทุกคนจะต้องได้รับบำนาญรายเดือนไปตลอดชีวิต

“ระบบบำนาญประชาชนควรได้รับเงินแต่ละเดือนมากกว่า 500 บาท คือ อยู่ระหว่างเส้นความยากจนซึ่งในปี 2550 เส้นความยากจนเฉลี่ยทั้งประเทศจะอยู่ที่ 1,443 บาท/คน/เดือน ในส่วนของหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุที่จะเข้าสู่ระบบบำนาญประชาชนนั้นยังไม่ได้กำหนด เพียงแต่ตั้งไว้ว่าให้ผู้สูงอายุทุกคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิในกองทุนใดๆ เลย คนที่ได้รับบำนาญอยู่แล้วก็จะยกเว้น ส่วนผู้ที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทก็อาจมีการปรับเข้ามาอยู่ด้วยกันกับบำนาญประชาชน ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องทุ่มงบมากกว่า 1 แสนล้านบาทเพื่อดำเนินการให้เกิดบำนาญประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” น.ส.บุญยืน กล่าว

น.ส.บุญยืน กล่าวต่อว่า สำหรับแนวคิดของรัฐบาลที่จะมีการบังคับออมเพื่อบำนาญชราภาพนั้นทางเครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนที่ยากจน การจะออกกฎหมายเพื่อบังคับให้ทุกคนออมเงินเพื่อบำนาญชราภาพของตนเองนั้นเป็นการปัดความรับผิดชอบที่รัฐต้องจัดสวัสดิการให้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม เครือข่าย จึงสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีสิ่งแวดล้อม แทนเพื่อลดช่องว่างทางรายได้และเพื่อสามารถจัดสวัสดิการบำนาญประชาชนได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อให้เกิดระบบบำนาญประชาชนต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ดังนี้ 1.รัฐต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมายหลักประกันบำนาญประชาชนแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งกองทุนบำนาญประชาชน ที่มีงบประมาณหลักมาจากภาษีน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก โดยผนวกแนวคิดการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรสวัสดิการชุมชน องค์กรประชาชน ในการบริหารจัดการบำนาญประชาชน 2. ไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านแนวคิดการบังคับออมเพื่อบำนาญชราภาพ 3.เครือข่ายจะดำเนินการควบคู่ไปกับรัฐบาล ด้วยการล่ารายชื่อหมื่นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายหลักประกันบำนาญประชาชนแห่งชาติ และการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 4.สนับสนุนแรงงานอิสสระ ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมสามารถเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมได้ และจัดสิทธิประโยชน์ด้านบำนาญชราภาพที่เหมาะสม 5.สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนการออมส่วนบุคคลตามความสมัครใจ และ 6.ให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการจัดตั้งกองทุนบำนาญประชาชนโดยเน้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น