xs
xsm
sm
md
lg

เผยรอบ 7 ปีคนตายจากภัยธรรมชาติทั่วโลกกว่า 2 แสนคน สธ.ย้ำใช้แผนรับมือตามมาตรฐานสากล ปชช.มั่นใจได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
องค์การอนามัยโลก แนะประเทศสมาชิก เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยสถานพยาบาล รับภาวะวิกฤติฉุกเฉิน ชี้ ในปี 2551 มีภัยธรรมชาติฉุกเฉินเกิดขึ้นทั่วโลก 321 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวในรอบ 7 ปี ด้านสธ.เตรียมแผนรับมือตามมาตรฐานสากล 4 เรื่องใหญ่ คุยประชาชนไทยมั่นใจได้

วันนี้ (7 เม.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูง ร่วมเปิดนิทรรศการงาน รณรงค์เนื่องในวันอนามัยโลกซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายน ทุกปี ในปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดหัวข้อให้ทุกประเทศสมาชิกรณรงค์ หัวข้อ “โรงพยาบาลพร้อม คุ้มครองทุกชีวิต ในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน” หรือ “ Save Live. Make Hospital Safe in Emergency”

นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มสถานการณ์ฉุกเฉิน นับวันยิ่งคุกคามโลกและประเทศไทยบ่อยและรุนแรงขึ้น สร้างความเสียหายทรัพย์สิน การบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชน ในปี 2551 องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลก 321 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 235,816 คน โดยพบว่าการตายจากสาเหตุนี้เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวในรอบ 7 ปีมานี้ เช่น กรณีไต้ฝุ่นนาร์กิสที่พม่า มีคนสูญหายเสียชีวิต 138,366 คน แผ่นดินไหวที่จีน มีผู้เสียชีวิต 87,476 คน ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีโรคระบาดเกิดขึ้นในรอบ 12 เดือน ปี 2551 อีก 162 ครั้ง ใน 75 ทั่วโลก หากเหตุการณ์ฉุกเฉินนั้น มีผลต่อสถานบริการสุขภาพและบุคลากรสุขภาพซึ่งเป็นที่พึ่งยามเจ็บป่วยของประชาชน จะสร้างความเสียหายเป็นอันมาก เนื่องจากสถานบริการสุขภาพและบุคลากรสาธารณสุขเป็นปราการด่านแรกที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชนในระหว่างการเกิดภัยพิบัติ เช่น การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บผู้ป่วย การป้องกันโรค และการดูแลรักษา

นพ.ปราชญ์ กล่าวอีกว่า ในการเตรียมรับความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินของสถานบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย 4 เรื่องใหญ่ดังนี้ 1.การออกแบบโครงสร้างสถานพยาบาลทุกแห่งต้องมั่นคง แข็งแรง ตามข้อบังคับของกฎหมาย เพื่อให้สามารถรองรับสาธารณภัยตามความเสี่ยงของพื้นที่ได้ 2.ให้มีการประเมินความเสี่ยงภัยอย่างต่อเนื่อง 3.ให้สถานพยาบาลทุกแห่ง จัดทำแผนรับมืออุบัติภัย และมีการซักซ้อมปฏิบัติให้เกิดความคล่องตัว 4.มีระบบเครือข่ายประสานงาน สนับสนุนการช่วยเหลือกรณีเกินขีดความสามารถของสถานบริการสุขภาพ ขณะเกิดภาวะวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการได้ดียามเกิดภัยฉุกเฉินเช่นกรณีเกิดคลื่นยักษ์สีนามิ ไทยสามารถจัดระบบบริการทางการแพทย์แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้อย่างดี ทั้งนี้ สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยทั่วไปแบ่งเป็นภัยใน 3 ลักษณะ คือ ภัยที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว อุทกภัย วาตภัย ภัยที่เกิดจากการระบาดของโรค เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก และภัยที่เกิดจากการก่อการร้าย เช่นปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้านนพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรับมือกับทุกวิกฤตการณ์เพื่อป้องกันและรักษาชีวิตผู้บาดเจ็บ ต้องได้มาตรฐานสากล 3 เรื่องหลัก คือ ด้านโครงสร้างโรงพยาบาล และสถานีอนามัยทุกแห่งต้องมีความแข็งแรง และคงทนต่อทุกสภาวะ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เสี่ยงภัย ด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ต้องปลอดภัย รวมถึงระบบไฟฟ้า น้ำประปา และสัญญาณเตือนภัย และประการสุดท้าย ต้องมีแผนรองรับอุบัติเหตุและอุบัติภัย โดยทุกสถานพยาบาลต้องซ้อมแผนอยู่เสมอ

“ทั้งนี้ ในการจัดนิทรรศการเนื่องในวันอนามัยโลกปีนี้ ได้นำเหตุการณ์ฉุกเฉินที่หน่วยงานในสังกัดได้รับมาจัดแสดง อาทิ โรงพยาบาลราชบุรี เรื่องการก่อการร้าย โรงพยาบาลราชวิถี เรื่องอุบัติเหตุหมู่ โรงพยาบาลหาดใหญ่ เรื่องน้ำท่วม และสถาบันบำราศนราดูร เรื่องการระบาดของโรค เพื่อเตรียมความพร้อมไว้รองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเมื่อมีภัยมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสถานพยาบาลพร้อม อุปกรณ์ปลอดภัย และบุคลากรสมบูรณ์ พร้อมรับเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างแท้จริง”นพ.สมยศ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น