โดย สาริน จันทะรัง
ย้อนไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) มีคณะผู้บริหารชุดใหม่หลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา และ 1 ในทีมงานก็มีชื่อของ “ทยา ทีปสุวรรณ” ที่กระโดดเข้ามารับหน้าเสื่อพัฒนาด้านการศึกษา กทม.ซึ่งชื่อชั้นของเธอคนนี้คงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีในแวดวงการศึกษา เพราะผู้หญิงคนนี้ คือ ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนชื่อดัง “ศรีวิกรม์” ธุรกิจสืบทอดของครอบครัว
ด้วยอายุเพียง 37 ปี จะยากง่ายสักแค่ไหนกับการที่จะพัฒนาให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้ง 435 แห่ง มีคุณภาพได้มาตรฐานเทียบเคียงกับโรงเรียนสาธิต ตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้
ทยา เริ่มต้นอธิบายกรอบการพัฒนาโรงเรียน กทม.ใน 4 ปี ตามจุดมุ่งหมายโดยจะเร่งพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก กิจกรรมความรู้ คู่คุณธรรม แต่ ทยา ก็ยอมรับว่า โรงเรียน กทม.มีความหลากหลาย ดังนั้น การที่จะพัฒนาให้ได้ตามเป้าประสงค์นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะคงไม่สามารถพูดได้ว่าทั้ง 435 แห่งคุณภาพเท่ากันหมด
“ที่ผ่านมา เราได้ทำเครือข่ายร่วมกับโรงเรียนสาธิตเกษตรฯในการดูแลเด็กออทิสติก รวมถึงจะทำ MOU กับโรงเรียนสาธิตประสานมิตร ซึ่งได้ส่งโรงเรียนวัดช่องนนทรีไปเป็นโรงเรียนเครือข่ายแห่งแรก ส่งครูไปอบรมเกี่ยวกับหลักสูตร เทคนิคการสอน การพัฒนาทางด้านสมอง จนสามารถนำเด็กโรงเรียนวัดช่องนนทรีมาเรียนร่วมกับเด็กจากสาธิตประสานมิตรเป็นเวิร์กชอประยะสั้นๆ ตลอดจนมีการต่อยอดเครือข่ายครูผู้ปกครอง ซึ่งหลังจากนี้แล้วจะมีการขยายโรงเรียนเครือข่าย รวมถึงจะไปพูดคุยกับโรงเรียนในเครือสาธิตอื่นๆ เพราะโรงเรียนในสังกัดกทม.มีจำนวนมาก และเราต้องการเห็นความแตกต่างในรูปแบบการจัดเครือข่ายและเรานำข้อดีของแต่ละโรงเรียนมาใช้ ซึ่งจะเป็นโครงการระยะยาว”
นอกจากจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกับโรงเรียนสาธิตแล้ว กทม.ในยุคคุณชาย เตรียมส่งเสริมพัฒนาการเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ก่อนจะส่งต่อเมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กนักเรียนของ กทม.มีความหลากหลายไม่มีเกณฑ์คัดเลือก พร้อมรับทุกคนเข้าสู่สังกัด แต่เมื่อ กทม.ใช้นโยบาย Smart Scholl เข้ามายกระดับโรงเรียนในสังกัดก็เริ่มมีคุณภาพมาเรื่อยๆ จนผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.เกือบทั้งหมด แต่รองผู้ว่าฯด้านการศึกษาคนนี้ก็ระบุว่าต้องพัฒนาคุณภาพไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ทยา ยังชี้ให้เห็นความแตกต่างในการบริหารงานต่างวาระที่เธอเองต้องยอมรับว่า มันหนักมากจากเดิมที่ดูแลโรงเรียนเพียง 1 แห่ง แต่เมื่อเปลี่ยนบทบาทต้องดูแลถึง 435 แห่งทำให้การบริหารจัดการภาพรวมยากกว่ากันเยอะ การตัดสินใจนโยบายอะไรต้องคิดให้รอบคอบผ่านการประชุมผู้บริหารหลายครั้ง จึงแก้ปัญหาด้วยการประชุมติดตามงานทุกอาทิตย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานให้มีความรวดเร็วมากขึ้น
สำหรับ 2 เดือนในการก้าวเข้ามากุมหัวใจการพัฒนา กทม.อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศ เธอคนนี้บอกว่าจะผลักดันโครงการต่างๆให้เกิดขึ้นทั้งโครงการอบรมพี่เลี้ยงเด็ก โครงการ E-Library เชื่อมต่อเครือข่ายห้องสมุดของโรงเรียน กทม.เริ่มต้นจะนำร่อง 50 แห่งเพื่อเป็นการเปิดกว้างโลกในการอ่านหนังสือ สืบค้นข้อมูล ยืมหนังสือจากแต่เดิมทำได้เฉพาะโรงเรียนของตัวเอง อีกทั้งในอนาคตจะทำให้มี E-Book ให้เด็กสามารถโหลดข้อมูลไปอ่านเองได้ตามสะดวก และล่าสุดในปีการศึกษา 2552 นี้เด็กนักเรียนกทม.ตั้งแต่ชั้น ม.1-ม.3 จะได้เรียนหลักสูตรโลกหมุนได้ด้วยมือฉัน ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ที่ปรับปรุงมาจากสื่อการเรียนการสอนของประเทศเนเธอร์แลนด์
ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กเพราะปัญหาเด็กวัยรุ่นสมัยนี้เยอะมาก ทั้งก้าวร้าว ติดเกม มีเพศสัมพันธ์ ท้องก่อนวัยอันควร จึงอยากจะให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมตระหนัก โดยหลักสูตรนี้จะทำให้เด็กรู้จักตัวเองรอบด้านทั้งการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การคบเพื่อน ซึ่งตนคิดว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้เป็นอย่างดี รวมถึงจะเน้นการจัดกิจกรรมโรงเรียนวิถีพุทธ วิถีธรรมให้มากขึ้นโดยจะให้แต่ละเขตมีโรงเรียนอย่างน้อย 1 แห่ง เป็นสถานที่เปิดให้เด็กและผู้ใหญ่เข้ามาทำกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาได้
ขณะเดียวกัน ในการดูแลความปลอดภัยภายในโรงเรียนกทม.จะมีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพิ่มขึ้นซึ่งก่อนหน้านี้ติดตั้งแล้ว 131 แห่ง จะติดตั้งให้ครบอย่างช้าที่สุดปีงบประมาณหน้าอีก 304 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ปกครองสบายใจ
ทยา ยังเล่าทิ้งท้ายถึงการใช้ชีวิตในฐานะรองผู้ว่าฯกทม.ควบคู่ไปกับหน้าที่ภรรยาและแม่ที่ดีของลูกทั้ง 3 คนว่า มีปัญหาในการจัดสรรเวลามาก (ขี้นเสียงสูง) ทำให้เข้าใจว่าทำไมสามีถึงไม่ค่อยมีเวลาให้ ซึ่งเขาทำงานการเมืองมาพอสมควรและเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม.เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ตรงนี้ทำให้เราต้องปรับตัวทั้งคู่ เปิดใจคุยกัน เข้าใจกันมากขึ้น ทะเลาะกันน้อยลงเพราะต้องทำทุกเวลาที่ได้อยู่ด้วยกันให้มีค่าทุกวินาที
ส่วนการดูแลลูกจากแต่เดิมจะมีเวลาพาลูกเข้านอนเวลา 2 ทุ่มครึ่งทุกวัน มีเวลาสอนทำการบ้าน แต่เดี๋ยวนี้จะเหลือแค่ 2 วันก็ทำให้ลูกคนโตถามว่า “แม่จะกลับค่ำอย่างนี้อีกนานไหม” เราก็ต้องอธิบายด้วยเหตุและผลให้เขาเข้าใจหากเป็นไปได้ก็จะกลับให้ทัน แต่หากไม่ทันเราก็จะมีวิธีสื่อสารกันด้วยการเขียนข้อความถึงกันซึ่งลูกจะถามว่า “เหนื่อยไหม หนูคิดถึงแม่นะ” และเราก็จะตอบเขาไปเช่นกัน ซึ่งค่อนข้างโชคดีที่ลูกได้มีโอกาสลงพื้นที่หาเสียงกับพ่อเขาและได้เห็นสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากที่เขาเคยเจอ บางครั้งเขาเองยังเก็บกลับมาถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เราก็จะอธิบายให้ฟัง จนทำให้เดี๋ยวนี้ลูกเป็นเด็กดีขึ้นมาก
จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เข้ามาทำงานให้สังคมจากเมื่อก่อนเป็นหนึ่งในคน กทม.ที่อยากให้ กทม.พัฒนาอย่างนั้น ทำนโยบายอย่างนี้ และเมื่อมีโอกาสเราก็จะนำสิ่งที่เราอยากจะทำมาผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม...