ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในทุกวันนี้นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 ปัญหาสำคัญอย่าง ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กติดเกม ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และปัญหาการมั่วสุมของเยาวชนในหอพัก
ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปถึงแนวทางแก้ไข จนทำให้ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เหมือนเป็นการ “วัวหายล้อมคอก” ไปวันๆ
... เมื่อที่ผ่านมาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเยาวชนโดยผู้ใหญ่เป็นผู้กำหนดนั้นไม่คืบหน้า ไร้วี่แววการจัดการที่เห็นผล จนปัญหาอาจจะกลับเข้าสู่อีหลอบเดิม ดังนั้นการแสวงหาทางแก้ไข และสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นโดยเสียงจากปากเจ้าของปัญหาเอง ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเดินไปสู่การแก้ที่ถูกจุด แต่ก็อยู่ที่ว่าแนวคิด “เด็กนำ ผู้ใหญ่สร้าง” จะเกิดขึ้นได้จริงแค่ไหน
ขจัด ‘ยาเสพติด’ ไม่ใช่แค่ประชาสัมพันธ์
‘พร’ นิภาพร รัตน์ธรรม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์ มรภ.สวนดุสิต สะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไข ปัญหายาเสพติดว่า ยาเสพติดเกิดขึ้นจากปัญหาของครอบครัวและสภาพแวดล้อมในชุมชน โดยจะเห็นชัดเจนว่าเด็กที่อยู่ภายในชุมชนแออัด ครอบครัวยากจนจะมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เมื่อสภาพแวดล้อมเป็นเช่นนั้นประกอบกับเด็กที่มีความอยากรู้อยากลอง และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่คิดว่าอาจจะยับยั้งตัวเองไม่ให้ติด แต่สุดท้ายนกลายเป็นถอนตัวไม่ขึ้นและปัญหาตางๆ ก็จะตามมา
เมื่อสาเหตุเป็นอย่างที่กล่าวมา พรเสนอแนวทางแก้ไขว่า อยากให้ภาครัฐหันมาใส่ใจและส่งเสริมชุมชน เช่น การศึกษา โดยเฉพาะชุมชนแออัด ที่มีครอบครัวยากจนซึ่งเด็กจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอะไรเลย อีกทั้งครอบครัวที่ยากจนนั้นเมื่อเข้าร่วมขบวนการค้ายา ซึ่งแลกมาด้วยค่าตอบแทนมหาศาล คนส่วนใหญ่ก็คิดที่จะทำตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างมากในการเปลี่ยนทัศนคติ และสำหรับการให้พื้นที่แก่เยาวชนในการเล่นกีฬา ดนตรีหรือสิ่งที่ตนเองถนัดนั้นอยากให้มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การโฆษณา ประชาสัมพันธ์อยากให้ทุ่มเทความสำคัญให้มากกว่าที่เป็นอยู่
สร้างพท.ความคิด แก้ ‘เด็กติดเกม’
มาถึงอีกปัญหาที่เรียกได้ว่าสาหัสสำหรับเยาวชนอย่าง ‘ปัญหาเด็กติดเกม’ โดย ‘แม็ค’ สิทธิโชค ไชยสุภาสิน และ ‘อ้น’ มงคล ศรีพรทวีทรัพย์ 2 หนุ่มจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ร.ร.สตรีวิทยา 2 สะท้อนปัญหาพร้อมแนวทางแก้ไขว่า เด็กติดเกมเป็นปัญหาที่คลาสสิกและเรื้อรังที่สุดสำหรับเยาวชนในตอนนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนร้านเกมก็จะเข้าถึงในทุกที่นี่ การเข้าถึงที่ง่ายจึงเป็นเหตุผลหลักของปัญหา หากมองที่ตัวเด็กจะพบเช่นกันว่า ส่วนหนึ่งก็เกิดจากเด็กมีเวลาว่างแต่กลับใช้เวลาว่างไม่เป็น ติดเพื่อน อีกทั้งยังมีความเครียดที่เด็กพบเจอจากภายในครอบครัวทำให้เขาต้องผันตัวเองไปสู่โลกเสมือนจริงอย่างในโลกไซเบอร์
“ สิ่งที่น่าห่วงคือเมื่อเด็กติดเกมจนไม่เป็นอันทำอะไร เรียนก็ไม่เรียน นอนก็ไม่นอน แม้กระทั่งกินข้าวก็ไม่ยอมกิน ตั้งหน้าตั้งตาอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเดียว เมื่อเขาโตขึ้นโลกแห่งความเป็นจริงที่เขาจะพบคือการไม่มีทางเดินของชีวิต ไม่รู้จะเดินไปทางไหนเพราะที่ผ่านมาทุ่มเวลาให้กับเกมมากจนเกินไป” แม็คให้ภาพ
ด้านแนวทางแก้ไขนั้น อ้น ฝากบอกต่อไปยังผู้เกี่ยวข้องว่า ก็เป็นที่รู้กันดีว่า ณ ตอนนี้อายุของเด็กที่ติดเกมเฉลี่ยต่ำลงมาก เพราะการเข้าถึงที่ง่ายและรูปแบบของเกมที่ออกมาแต่ละครั้งก็เพื่อการดึงดูดใจ พอเด็กสนใจมากๆ ก็จะมีการปลุกกระแส แต่ไม่ได้ใส่ความเข้าใจลงไป ทำให้เด็กติดเกมอย่างไม่รู้ตัว จึงอยากให้มีการสร้างความเข้าใจ โดยการ ฝึกให้เด็กคิดให้เป็น ในเมื่อการเล่นเกมมาจากเหตุผลว่าเบื่อ ก็น่าจะมีการฝึกให้เขาคิดที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่นการเล่นกีฬา ทำกิจกรรมที่ถนัด สนใจเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง แต่สมัยนี้เด็กจะไม่ค่อยชอบเล่นกีฬา ไม่ชอบทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง ไม่ชอบเหนื่อย ตรงนี้เป็นความคิดที่นำพาให้เขามานั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องเปลี่ยนความคิดตรงนี้ให้ได้
“ในส่วนที่มีความพยายามจะจัดโซนนิ่งนั้นก็คิดว่าไม่น่าจะช่วยอะไรได้ เพราะถึงร้านเกมจะอยู่ไกลจากโรงเรียนแค่ไหนหากเด็กจะเล่นก็จะแสวงหาจนได้ ไกลแค่ไหนก็ไปได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาพัฒนาความคิดของเยาวชน เพราะเด็กคิดไม่เป็นก็แก้ปัญหาไม่ถูก การติดเกมเริ่มแต่เด็กชั้นประถม จึงต้องมีการสร้างชั่วโมงขึ้นมาในโรงเรียนเหมือนการแนะแนว สร้างพื้นที่ทางความคิด แนะแนวทางให้แก่เด็ก ในส่วนของกระทรวงไอซีที ที่จะมีการสั่งห้ามเกมก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มคนส่วนน้อย เพราะหากยิ่งห้ามเด็กก็จะยิ่งทำ ยิ่งหาช่องทางที่จะเล่น และการส่งเสริมกิจกรรมนอกห้องเรียนให้มากขึ้น ส่งเสริมเล่นดนตรี กีฬา ความสามารถพิเศษ” อ้นทิ้งท้าย
ติวเข้มผู้ประกอบการ ลดปัญหามั่วสุมเด็กหอ
สำหรับปัญหาของเด็กไกลบ้านอย่าง ‘การมั่วสุมภายในหอพัก’ นั้นสะท้อนแนวคิดและแนวทางแก้ปัญหาผ่าน ‘กั้ง’ กนกนารี เต็มชำนาญ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเสนอว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในเรื่องความเป็นอยู่ของเยาวชนภายในหอพักคือ การอยู่ร่วมกันเป็นคู่ชาย หญิง ที่จะก่อให้เกิดปัญหาชู้สาว การท้องก่อนวัยอันควร เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหนัก อีกทั้งการรวมตัวกันจนนำไปสู่การมั่วสุมทั้งการดื่มเหล้า เล่นยา เล่นการพนัน ทั้งหมดนี้นอกจากปัญหาที่ตัวเด็กแล้วส่วนหนึ่งยังเกิดจากความไม่เข้มงวดในกฎระเบียบของผู้ประกอบการ เจ้าของ ที่มีความอะลุ่มอล่วยมากจนเกินไปจนทำให้มีการกระทำผิดได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่อยากเสนอให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น กั้ง เสนอว่า อยากให้มีการจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการหอพักทั้งรายใหม่ และรายเก่า ถึงรูปแบบการจัดการ การดำเนินงาน และการทำความเข้าใจเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบที่ต้องมีความเข้มงวด เพื่อเน้นให้ผู้ประกอบการดำเนินนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งอยากให้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับหอพักบริเวณโดยรอบสถานศึกษา และหอพักรวม ให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องยากหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน และหากทำได้จริงเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้มาก
เพียงแค่ผู้ใหญ่เปิดใจ สู่ ทางแก้เรื่องเพศวัยโจ๋
ปัญหาสุดท้ายที่ถือเป็นเรื่องใหญ่คือ ‘ปัญหาเพศสัมพันธ์ในเยาวชน’ ซึ่งปัญหานี้สะท้อนสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาจากปาก 2 สาวทั้ง ‘มุก’ สินีนาถ สนธยาพิลาศ นักศึกษาชันปีที่ 1 คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง และ ‘โย’ โยมนัฐ กลิ่นสุวรรณ จากวิทยาลัยราชพฤกษ์ ที่สะท้อนว่า ณ ตอนนี้ปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรในหมู่วัยรุ่นเริ่มขยายตัวลงมาสู่กลุ่มเยาวชนที่มีอายุน้อยลง คือระดับ 13-15 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งมาจากการขาดข้อมูล ความรู้ ขาดการเอาใจใส่ดูแล เช่นหลักสูตรการเรียนการสอนเพศศึกษาในปัจจุบันแทบจะถูกกลืนหายไปขณะที่กาลเวลาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่การสอนเพศศึกษายังคงอยู่ที่เดิมคือสอนให้รู้ในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเพียงเท่านั้น โดยลืมนึกไปว่าตอนนี้เรื่องเพศกับวัยรุ่นไปถึงไหนกันแล้ว
“การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นนั้นเชื่อว่าเจ้าตัวคงรู้อยู่แก่ใจ แต่ในสิ่งที่เขารู้ถึงความเปลี่ยนแปลงนี้เขาจะทราบถึงผลกระทบที่จะตามมาหรือไม่ เช่น สำหรับผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือน นั่นแปลว่าเขาพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ แต่วุฒิภาวะยังไม่พร้อม ดังนั้นในหลักสูตรเพศศึกษาต้องสะท้อนทัศนคติ ตรงนี้เข้าไปด้วยเพื่อให้เขาสามารถคิด และไตร่ตรอง ถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังการอยากรู้อยากลองตามวัยอย่างชั่ววูบ” มุกขยายความ
สำหรับแนวทางแก้ปัญหานั้น โย เสนอว่า ในเมื่อทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเรื่องเพศสัมพันธ์ของเยาวชนเป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก แต่ระหว่างการกระทำแล้วมีปัญหาตามมา กับการกระทำโดยผ่านกระบวนการความคิด ไตร่ตรอง ระวังป้องกัน ผู้ปกครองจะเลือกให้ลูกเป็นแบบไหน ดังนั้นทั้งหลายทั้งปวงก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง ที่ต้องเปิดใจรับกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าสังคม และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป อนาคตของเยาวชนยังต้องดำเนินต่อไป หากเราไม่ใส่ความรู้ให้เขาตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตเส้นทางในการดำเนินชีวิตคงลำบากและนำไปสู่ปัญหา อีกเรื่องสำคัญคือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเปิดใจรับ และยอมรับว่าปัญหานี้ไม่สามารถจะห้ามได้เลย แต่เรามีหน้าที่ในการสร้างความรู้การป้องกันที่ถูกต้อง ทั้งยังต้องการให้เพิ่มเนื้อหาในส่วนของหลักสูตรเพศศึกษา ที่เน้นให้เขาเกิดกระบวนการความคิด ตระหนัก ถึงแนวทางป้องกันให้มากกว่านี้ เชื่อว่าหากทำได้จริงจะช่วยลดปัญหาได้อย่างมาก