“สุขุมพันธุ์” เล็งเก็บภาษีน้ำมันลิตรละ 5 สตางค์ เผย 1 ปีทำรายได้ 500 ล้านบาท ทดแทนเงินที่ขาดหายจากช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ แต่ขอพิจารณาอีกครั้งเกรงซ้ำเติมประชาชน พร้อมเตรียมส่งเสริมเกษตรกร กทม.ปลูกเมลอนแทนปลูกข้าว ชี้รายได้สูง แค่ไร่เดียวได้เงิน 2.4 แสนบาท แต่ห่วงรัฐบาลไม่มีเงินให้ กทม.ทำโครงการเพื่อประชาชน
วันนี้ (30 มี.ค.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจโลกกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นโดย กทม. และสถาบันพัฒนาสยาม โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ปาฐกถาพิเศษด้วยว่า รายได้ของจังหวัด กทม.เป็น 1 ใน 4 ของรายได้ของระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งปี 2547 ตัวเลข GDP อยู่ที่ 6.3 ปี 2548 GDP 3.9 ปี 2549 GDP 1.5 และปี 2550 GDP -2.5 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวเลข GDP ใน กทม.ลดลงตามลำดับซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกโลกกำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และส่งผลให้เกิดการว่างงานซึ่งตัวเลขของผู้ว่างงานทั่วประเทศอยู่ที่ 5.2 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนใน กทม. 9 หมื่นคน แต่หากทั่วประเทศว่างงาน 8 แสนคน กทม.จะมีคนว่างงานอย่างน้อย 1.6 แสนคน
ดังนั้นจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของ กทม.มีเงินหมุนเวียนในระบบน้อยลงกระทรวงแรงงานต้องเข้ามาดูแล อีกทั้งเงินรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวก็จะลดลงเช่นกันซึ่งจากสถิติปี 2550 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นใน กทม.1.8 แสนล้านบาท แต่เมื่อเกิดวิกฤติเช่นนี้นักท่องเที่ยวหายไปแน่นอนเพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งหากนักท่องเที่ยวลงลด 10% จากจำนวน 11 ล้านคน เท่ากับว่ารายได้หายไป 1.5 หมื่นล้านบาท ถ้า 20% รายได้จะหายไปถึง 3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลก็มีปัญหาเพราะจัดเก็บได้น้อยลงทำให้ กทม.ต้องนำเงินสะสมออกมาใช้จ่ายเดือนละ 1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การหาแหล่งรายได้อื่นๆ โดย กทม.กำลังพิจารณาจัดเก็บภาษีน้ำมันลิตรละ 5 สตางค์ เพราะที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้จัดเก็บรายได้ในส่วนนี้ขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีการจัดเก็บลิตรละ 10 สตางค์ ซึ่งจะสามารถจัดเก็บได้ปีละ 500 ล้านบาท แต่ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบอีกครั้งโดยจะดูถึงส่วนต่างของราคาน้ำมันในเขต กทม.กับปริมณฑล หากแตกต่างกันมากก็จะมีการจัดเก็บ ซึ่งจะต้องมีการเสนอสภา กทม.ให้ความเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการชะลอส่วนนี้ไว้ก่อนเพราะเศรษฐกิจยังย่ำแย่ นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดเก็บภาษีเหล้า บุหรี่ และโรงแรม ซึ่งกำลังมีการยกร่างเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ซึ่งได้มีการแต่งตั้งนายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานยกร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ตนได้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณกทม.ปี 2552 ซึ่งแต่เดิมเบิกจ่ายได้ 15 % แต่เมื่อตนเข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม.สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 30% แม้จะเป็นตัวเลขที่สูงแต่ก็ยังไม่สบายใจเพราะอยากให้เบิกจ่ายมากกว่านี้ ขณะเดียวกัน ข้าราชการ กทม.ก็ออกอาการเกร็งเพราะถูกตรวจสอบจากองค์กรต่างๆ ค่อนข้างเยอะทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และหน่วยงานอื่นๆ ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณชะงักเพราะต้องชะลอหลายโครงการ
นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอ กทม.อนุมัติงบประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อนำกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในส่วนการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่เป็นเวลา 6 เดือน รวมถึงเปิดพื้นที่ค้าขายแห่งใหม่เพิ่มเติมทั้งโครงการจตุจักรมิดไนท์ การจัดมหกรรมสินค้าราคาถูกที่เงินหมุนเวียนถึง 50 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการธนาคารเพื่อประชาชนที่เป็นพ่อค้าแม่ขาย การแก้ไขหนี้สินให้กับข้าราชการ-ลูกจ้างกทม. ที่ธนาคารออกสินและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยร่วมกันออกสินเชื่อวงเงิน 100 ล้านบาท ในการซื้อหนี้บัตรเครดิตจากสถาบันการเงินต่างๆและให้ข้าราชการ-ลูกจ้างกทม.มาผ่อนชำระในอัตรา 8% ต่อปี ที่จะเปิดตัววันที่ 10 มเ.ย. นี้ ตลอดจนให้ศูนย์ส่งเสริมเงินออมของครอบครัวของกทม.เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาหนี้สินลูกหนี้รายย่อยและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน รวมถึงการเปิดตัวโครงการบ้านยิ้มวันที่ 1 เม.ย.ที่จะกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และในส่วนโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจคต์ของกทม.นั้นทั้งโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายบีทีเอสที่มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้วไม่มีปัญหาแต่นอกเหนือจากนี้ยังกังวลอยู่ว่ารัฐบาลจะนำเงินจากไหนมาลงทุน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กทม.กำลังยกร่างแผนการท่องเที่ยว 1 ปี เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมาไทยภายในกทม.อีกครั้ง ทั้งนี้ ตนจะส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีราคาสูงในกทม.ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตร 1 ใน 5 ของพื้นที่ทั้งหมด ขณะที่รายได้จากผลิตผลทางการเกษตรมีเพียง 0.5 ของรายได้จังหวัด กทม.เท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชนรายใหญ่ได้ส่งเสริมให้ปลูกเมลอน (Melon) ในพื้นที่เขตหนองจอก กทม.โดยรายได้อยู่ที่ 2.4 แสนบาทต่อไร่ และสามารถปลูกได้ปีละ 3 ครั้ง ซึ่งจะเห็นว่ารายได้จากการปลูกเมลอนมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าข้าวอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้คงไม่ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้นแต่ยามนี้ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ และสิ่งที่กทม.ดำเนินการจะช่วยแบ่งเบาความทุกข์เพิ่มความสุขส่วนรวมให้กับพี่น้องชาว กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลออกมายอมรับว่าอัตราการขยายเศรษฐกิจติดลบ 3% ถือว่าเป็นเรื่องดีเพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เตรียมมาตรการไว้รองรับ ทั้งนี้ ตนมีความเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะไม่มีเงินมาสนับสนุนการดำเนินภารกิจต่างๆ ของ กทม.หากเศรษฐกิจยังเป็นเช่นนี้ เพราะโครงการต่างๆ อาทิ เตาเผาขยะ การก่อสร้างถนน จำเป็นต้องได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลทั้งสิ้น