xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เปิดทางเสียภาษีแบ่งจ่ายรับพิษ ศก.ตั้งเป้าเก็บได้ 1 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กทม.เปิดทางคนเสียภาษีขอชำระเป็นงวดๆ ได้ หลังพิษเศรษฐกิจทำเหตุ แต่ตั้งเป้าปีนี้จัดเก็บได้ 1 หมื่นล้านเท่ากับปีที่แล้ว พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ประเมินรายได้อย่างเป็นธรรมอย่ามีประโยชน์แอบแฝง

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานนคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ในฐานะหน่วยงานที่ต้องจัดเก็บภาษี 3 ประเภท ได้แก่ 1.ภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งเจ้าของโรงเรือนต้องยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธุ์ของทุกปี และชำระภาษีภายใน 30 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งประเมิน 2.ภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งกำหนดชำระภายในเดือนเมษายนของทุกปี และ 3. ภาษีป้าย เจ้าของป้ายต้องยื่นแบบแสดงภาษีป้ายเพื่อชำระภาษีภายในเดือนมีนาคม ซึ่งในปี 2552 นี้ กทม.ได้เพิ่มทางเลือกใหม่ในการชำระภาษีให้กับประชาชนโดยสามารถชำระภาษีทั้ง 3 ประเภทได้ผ่านระบบ TELLER PAYMENT ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยนำใบแจ้งการประเมินพร้อมใบแจ้งการชำระภาษีที่มีบาร์โค้ดไปรับชำระเงินได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา โดยคิดค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท ทั้งนี้ ธนาคารจะรับชำระเงินในกรณีปกติไม่มีค่าเพิ่ม และไม่เกินวันที่กำหนดไว้ในใบแจ้งการชำระภาษีโดยธนาคารจะทำการออกใบรับภาษีให้กับผู้ชำระเงินภาษี จากนั้นกองการเงิน สำนักการคลัง กทม.จะจัดส่งใบเสร็จเงินให้ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม อยากกระตุ้นเตือนให้พี่น้องชาว กทม.ต้องช่วยกันยื่นแบบชำระภาษีและชำระภาษีเพื่อเอาภาษีมาพัฒนาเมืองของท่านไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชน การดูแลความปลอดภัย

นายธีระชน กล่าวต่อ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ตนได้ให้นโยบายไปยังฝ่ายรายได้ของ 50 สำนักงานเขต ให้ขยายฐานจัดเก็บที่ยังจัดเก็บไม่ทั่วถึงให้ดำเนินการให้ทั่วถึงก่อนที่จะไปเร่งรัดเอากับผู้ที่เสียภาษีอยู่เดิม รวมถึงในการประเมินก็ให้ประเมินอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ประเมินเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หรือประเมินสูงไปจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน ตลอดจนให้มีการผ่อนผันการชำระภาษีโดยไม่ต้องชะรำทั้งหมดในคราวเดียวสามารถแบ่งชำระเป็นงวดๆ ได้ เช่น ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น โรงแรมซึ่งช่วงนี้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากก็สามารถขอชำระเป็นงวดๆ ได้โดยขอให้ยื่นเรื่องเข้ามาทางกทม.จะพิจารณาดำเนินการให้ อย่างไรก็ตาม กทม.ตั้งเป้าจัดเก็บภาษีให้ได้ 1 หมื่นล้านบาทเทียบเคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งคิดว่าน่าจะได้ตามเป้าหมาย

กำลังโหลดความคิดเห็น