xs
xsm
sm
md
lg

กระทุ้งรัฐเร่งรับมือวิกฤตน้ำ หวั่นสูญเสียศักยภาพครัวสู่โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสส.หนุนชุมชนอนุรักษ์แม่น้ำลำคลอง กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของน้ำ หวังสร้างสุขภาวะในระยะยาว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ระบุวิกฤติน้ำกำลังคุกคามทั่วโลก ชี้หากไทยไม่รีบพัฒนาพื้นที่รองรับน้ำขนาดใหญ่อาจทำให้สูญเสียศักยภาพในการผลิตอาหารสู่โลก

นพ.บรรลุ ศิริพานิช กรรมการบริหารแผนเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขณะนี้ทาง สสส.ได้สนับสนุนให้องค์กร ชุมชน และหน่วยงาน ดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นคืนสภาพแม่น้ำลำคลองในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้เพราะ สสส.ต้องการสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมว่าน้ำมีความสำคัญต่อชีวิต หากอุปโภคบริโภคน้ำที่สะอาดก็จะสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับตนเองและสังคมได้

“แม้ว่าเราจะไม่สามารถทำให้แม่น้ำ ลำคลอง สะอาดจนทำให้พอดื่มกินได้ แต่เราไม่ควรทำให้สกปรกไปมากกว่านี้ เราทุกคนควรมีจิตวิญญาณอนุรักษ์ ถ้าทุกคนเห็นแก่ตัว แม่น้ำลำคลองก็จะไม่มีทางสะอาดขึ้นมาได้” นพ.บรรลุ กล่าวว่า

ทางด้าน ดร.กิติชัย รัตนะ อาจารย์ประจำวนศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ นักอนุรักษ์น้ำ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการชุดอนุรักษ์ฟื้นคืนสภาพแม่น้ำลำคลอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลในที่ประชุมวอเตอร์ ฟอรัม เนื่องในวันน้ำโลก 22 มีนาคม ที่ประเทศตุรกี ระบุว่า โลกจะพบกับวิกฤติน้ำจืดในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะใน ค.ศ.2030 ประชากรโลก 3,900 ล้านคนจะพบกับปัญหาเกี่ยวกับน้ำอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในจีน และเอเชียใต้


ดร.กิติชัย กล่าวว่า ปัญหาหลักๆ ที่คนไทยและประชากรโลกต้องเผชิญเกี่ยวกับน้ำ ได้แก่ มลพิษทางน้ำ, การใช้น้ำในภาคการเกษตรเกินความพอดี และใช้น้ำอย่างไม่มีการวางแผน, ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ และปัญหาสุดท้าย คือ การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ตอนต้นน้ำกระทบกับคนปลายน้ำ อย่าง โครงการในแม่น้ำโขง เมื่อทราบปัญหาเช่นนี้ ดังนั้นรัฐควรพัฒนาพื้นที่รองรับน้ำให้ได้ปริมาณมากๆ เช่น อ่างเก็บน้ำ รวมถึงการน้อมนำเอาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องการพื้นฟูป่าต้นน้ำ ที่มีแนวคิดว่า เก็บน้ำไว้ในดิน เก็บดินไว้กับที่ หรือส่งเสริมให้ชาวบ้านสร้างฝายชลอน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า ก็จะเพิ่มปริมาณน้ำได้ในขณะหนึ่ง

“ภาวะโลกร้อนก็มีส่วนทำให้ปริมาณน้ำของโลกไม่คงที่ บางปีฝนก็ตกมากเกินพอดีทำให้น้ำท่วม แต่ในอนาคตคาดการณ์กันว่าปริมาณน้ำฝนจะลดลงเรื่อยๆ เราต้องเตรียมรับมือจัดการกับปริมาณน้ำที่ไม่คงที่ ถ้าเรายังนิ่งเฉย ต่อไปประเทศไทยอาจจะสูญเสียศักยภาพในการผลิตอาหารสู่โลกได้” ดร.กิติชัย กล่าว

นายชลิต ดำรงศักดิ์  อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในปีนี้ กรมชลประทานมีแผนที่จะดูแลบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะนำระบบภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ประกอบกับระบบ GIS ซึ่งระบบนี้จะเห็นภาพถ่ายของสภาพแหล่งน้ำ พื้นที่เพาะปลูก พื้นที่ประสบภัย และเส้นทางน้ำไหลได้อย่างชัดเจน ช่วยวางแผนการผันน้ำ กระจายน้ำ และแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น  ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มใช้แล้ว และจะพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นให้ทันกับฤดูฝนปีนี้ และในวันนี้นายกรัฐมนตรีก็ได้ให้ความสำคัญเรื่องของการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ  ซึ่งกรมชลประทานก็จะเร่งดำเนินการตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ดำเนินการ

โดยในปี 53 ของบไป 67,000 ล้านบาท  มาดำเนินโครงการ 4 ประเภท  คือ บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานเดิมโดยการสร้างระบบกระจายน้ำเข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น  การจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมากขึ้น โดยที่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว เช่น ก่อสร้างโครงการบรรเทาอุทกภัยจังหวัดจันทบุรี และโครงการก่อสร้างระบบชลประทานพิษณุโลกฝั่งซ้าย นอกจากนี้ ยังมีโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยทั้งประเทศ โครงการใช้น้ำในการสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้สั่งการให้เร่งเสนอโครงการที่จะดำเนินการในงบกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนระยะ 3 ปี จนถึงปี 2555 ไว้แล้ว

น.ส.ภาวิณี ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและประสานมวลชน กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า   กรมทรัพยากรน้ำจะจัดงาน “น้ำไร้พรมแดนเนื่องในวันน้ำโลก 22 มีนาคม” และสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในวันที่ 25-27 มีนาคม โดยนายกรัฐมนตรีจะเปิดงาน ในวันที่ 26 มีนาคม ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี และให้นโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ  รวมทั้งการปาฐกถาแนวทางการบริหารจัดการน้ำและให้นโยบายโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการสัมมนาวิชาการ 

ทั้งนี้ ในวันที่ 25 มีนาคม จะมีคอนเสิร์ต “น้ำใจไร้พรมแดน”  เน้นเนื้อหาสาระเกี่ยวกับน้ำและความเชื่อมโยงของน้ำกับชีวิตจิตใจของคน

สำหรับแนวคิดหลักในการจัดงานวันน้ำโลกปีนี้ คือ น้ำไร้พรมแดน มีหมายความว่า ในโลกนี้มีแม่น้ำที่เป็นแม่น้ำพรมแดนไม่น้อยกว่า 270 แห่งทั่วประเทศ และไม่มีเส้นแบ่งกั้นตามขอบเขตของประเทศ ทุกลุ่มน้ำสามารถร่วมกันใช้ประโยชน์และร่วมกันดูแลรักษา โดยมุ่งหวังให้ประชาชน มีความตระหนักถึงความเป็นเจ้าของน้ำร่วมกัน และเข้าใจว่าโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม น้ำเสีย และผลกระทบที่จะเกิดจากทรัพยากรน้ำเนื่องจากโลกร้อน  ดังนั้นต้องช่วยกันรักษาดูแลฟื้นฟูเท่าที่เราจะทำได้เพื่อไม่ให้วิกฤตไปกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น