“กษมา” เผยนโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาลเริ่มเห็นผล เด็กสมัครเรียน ม.4 ลดลงหันไปสมัครเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น เพราะได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐ กำชับ สพท.กทม.2 ดูแลเด็กล้นห้องเรียน ระบุ ปีนี้ปัญหาน้อยลงเพราะผู้ปกครองเริ่มกระจายตัวไปสมัครโรงเรียนรอบนอก เนื่องจากเห็นผลงานโรงเรียนแล้ว
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงการรับนักเรียนชั้น ม.1 ประจำปีการศึกษา 2552 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า การรับนักเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กรุงเทพมหานคร เขต 2 นั้นตนได้กำชับและขอร้องโรงเรียนไม่ให้ขยายห้องเรียนเกิน 50 คนต่อห้อง ซึ่งปัญหาเด็กล้นในเขตนี้น่าจะดีขึ้น เพราะในปีนี้กรุงเทพมหานครได้เพิ่มปริมาณการรับนักเรียนชั้น ม.1 มากขึ้นและใน สพท.กทม.เขต 2 ได้เปิดชั้น ม.1 เพิ่มในโรงเรียนบางบัว โรงเรียนพิบูลย์อุปถัมภ์ ซึ่งแม้ตัวเลขที่รายการผลการรับสมัครจะมียอดสมัครเกินใน สพท.กทม.เขต 2 อยู่หลายเท่า แต่เหมือนทุกปีที่มีนักเรียนจากรอบนอก เช่น จ.นนทบุรี ปทุมธานี มาสมัครเข้าเรียนและเมื่อไมได้เข้าเรียนก็จะกลับไปเรียนในโรงเรียนพื้นที่
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ปัญหาเด็กล้นในปีนี้เบาบางลง เพราะผู้ปกครองได้เริ่มเห็นผลงานและยอมรับในโรงเรียนมากขึ้นดังจะเห็นได้จากยอดสมัครของโรงเรียนเล็กๆ รอบนอกกรุงเทพมหานครหลายแห่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมามาก ซึ่งอยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนโรงเรียนคู่พัฒนาของโรงเรียนขนาดใหญ่นั้นยังต้องรอให้การรับนักเรียนเสร็จก่อน แต่ในเบื้องต้นบางโรงเรียนเช่น โรงเรียนวัดน้อยนพคุณรับนักเรียนเต็มแล้ว”
คุณหญิงกษมา กล่าวต่อไปว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพของรัฐบาลนั้นเริ่มมีผลต่อการเข้าเรียนต่อโดยเฉพาะในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.พบว่ามียอดสมัครต่ำกว่าแผนที่รับและทราบว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กหันไปสมัครเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะที่ผ่านมาเด็กหลายคนต้องการเรียนสายอาชีวศึกษามากกว่าสายสามัญ แต่ติดเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าสายสามัญ ดังนั้น เมื่อมีนโยบายนี้ส่งผลให้เด็กไม่มีเงินไปเรียนสายอาชีวศึกษามากขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับรายงานผลการรับสมัครนักเรียนชั้น ม.1 ล่าสุด ในเขตกรุงเทพมหานครนั้น พบว่า สพท.กทม.เขต 1 ยอดสมัคร 31,769 คน ประกาศรับ 14,151 คน สพท.กทม.เขต 2 สมัคร 59,875 คน รับ 17,594 คน สพท.กทม.เขต 3 สมัคร 36,421 คน รับ 15,797 คน
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดในโรงเรียนเป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ดำเนินการตามระบบดูแลมาโดยตลอดคือทางโรงเรียนจะติดตามวิเคราะห์นักเรียนเป็นรายบุคคล โดยจะจำแนกเด็กออกมาและหากพบว่าใครติดยาเสพติดก็จะส่งไปบำบัดและเด็กคนไหนมีลักษณะเสี่ยงในด้านอื่นๆ จะต้องติดตามเฝ้าระวัง ส่วนนักเรียนที่ค้ายาจะต้องมีการรายงานและบำบัดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของเด็กและเยาวชนนั้นก็เริ่มมีความกังวลกันในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเด็กและเยาวชนที่ในโรงเรียนที่ตนได้รับรายงานมาก็ยังเป็นเรื่องของเพศ เด็กติดเกม และความรุนแรงที่ค่อนข้างจะมีมาก อย่างไรก็ตาม จะต้องกับไปยังโรงเรียนให้เข้มงวดเรื่องนี้ รวมทั้งต้องประสานกับทางตำรวจอีกทางหนึ่ง เพราะบางครั้งเด็กจะไปเสพยาภายนอกโรงเรียน