xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านห้วยกุ้ง’’ ร.ร.บนดอย ที่ไม่ด้อยความรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้องๆ ร.รบ้านห้วยกุ้ง
คงเป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาของเด็กไทยในยุคปัจจุบันนั้นมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กติดเกม ยาเสพติด หนีเที่ยว มั่วสุมอบายมุข ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ฯลฯ ซึ่งแต่ละปัญหาก็ล้วนแล้วหนักหนาสาหัสอยู่ไม่น้อย ยิ่งกับบรรดาวัยโจ๋ที่อยู่ในเมืองใหญ่ด้วยแล้ว ยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น

แน่นอนว่า ต้นเหตุของปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่มักมาจากครอบครัวที่ละเลย และไม่มีเวลาเพียงพอที่จะให้ความรักและความอบอุ่นกับลูก

อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กบนพื้นที่สูงหรือที่เรียกว่า “เด็กบนดอย” นั้น สิ่งที่พวกเขาประสบพบเจอไม่ใช่ปัญหาเหล่านี้ แต่เป็นปัญหาของความขาดแคลนทรัพยากรและปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต และรวมไปถึงการศึกษาเล่าเรียน เช่น ไม่มีอาคารเรียน ขาดแคลนหนังสือ ขาดแคลนห้องสมุด อุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันหนาว

ยกตัวอย่างเช่นที่ “โรงเรียนบ้านห้วยกุ้ง ตำบลป่าโปง อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน” เป็นต้น

โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีการเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ที่นี่จะเป็นเด็กชาวเขา 2 ชนเผ่าด้วยกัน ได้แก่ สกอร์ มีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธและคริสต์ และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่ม โปว์ มี 70 เปอร์เซ็นต์ จะนับถือผี โดยมีนักเรียนทั้งหมด 153 คน เป็นเด็กมัธยมศึกษา 68 คน นอกจากนี้ ที่โรงเรียนแห่งนี้ยังมีหอพักให้นักเรียนที่บ้านอยู่ไกลได้พักด้วย

แต่กระนั้นแม้โรงเรียนแห่งนี้จะมีความหลากหลายทางด้านชนเผ่า ทำให้เกิดความแตกต่างเรื่องของภาษา ศาสนา แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะพวกเขามีสิ่งที่สามารถหลอมรวมทั้งครู และนักเรียนให้เป็นหนึ่งเดียวไว้ได้ คือ “หนังสือ”

“ครูอ้อ” วรรณระเบียบ บุญเกิด ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยกุ้ง ได้เล่าเกี่ยวกับสภาพปัญหาทั้งของครูและนักเรียนให้ฟังว่า สิ่งแรกที่เป็นปัญหาสำหรับครูและนักเรียนคือ เรื่องของภาษา เพราะเด็กแต่ละชนเผ่าก็จะมีภาษาของตัวเอง เมื่อมาโรงเรียนเด็กนักเรียนก็จะเอาภาษาของตัวเองมาใช้ทำให้การสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนเด็กด้วยกันเอง สื่อสารกันไม่เข้าใจ ดังนั้นจึงแก้ไขปัญหานี้โดยให้เด็กเมื่อมาโรงเรียนต้องพูดภาษากลาง ในขณะที่ครูซึ่งเป็นคนเมืองในพื้นที่ก็จะต้องพูดภาษากลางเช่นเดียวกัน

“ลำพังแค่ให้เด็กพูดภาษากลางก็จะแย่แล้ว ถ้าให้พูดภาษพื้นเมืองอีกก็จะทำให้เด็กออกเสียงไม่ได้ สำหรับเด็กอนุบาลจะฟังภาษาไทยรู้เรื่อง แต่ยังพูดไม่ค่อยชัด แต่ถ้าเป็นระดับชั้นประถมฯ ก็จะพูดได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เด็กมัธยมฯ จะพูด ฟัง อ่าน เขียนได้เกือบดี”

ปัญหาต่อมาคือ ห้องสมุดซึ่งมีขนาดเล็กมาและหนังสือที่มีอยู่ก็เก่าและน้อยไม่เพียงพอกับเด็ก แต่ตอนนี้ได้รับแก้ไขแล้วเนื่องจากได้การสนับสนุนจากโครงการ One by One: เปิดโลกกว้างทางปัญญา ของมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย ซึ่งห้องสมุดใหม่ที่ได้มาจะช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ การอ่านแก่เด็กได้เป็นอย่างดี และเพื่อที่จะช่วยให้ผู้ปกครองสนับสนุนให้ลูกหลานของตนเองให้เรียนหนังสือมากกว่าออกไปใช้แรงงานทั้งแต่ยังเล็กๆ

“เมื่อได้ห้องสมุดหลังใหม่ หนังสือใหม่ๆ ที่หลากหลายขึ้น ทั้งหนังสือเกี่ยวกับสารคดี เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และหนังสือในกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม โดยจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านการอ่าน การเขียน ทักษะการคิด การพูด จินตนาการ ทำให้เด็กมีการมองโลกที่ไกลขึ้นเมื่อเขาออกไปเผชิญโลกภายนอกจะได้ทันคน ขณะเดียวกัน ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กอยากเรียนหนังสือมากขึ้น เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะชนเผ่าโปว์มักให้ลูกออกมาใช้แรงงานช่วยเก็บผักปลูกผักมากกว่าให้เรียนหนังสือ ซึ่งแตกต่างจากชนกลุ่มสกอร์ที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้ลูกเรียนหนังสือ”

อย่างไรก็ตาม “ครูอ้อ” บอกว่า นอกจากจะเปิดห้องสมุดหลังใหม่นี้ให้นักเรียน ครูเข้าใช้บริการแล้วยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับโรงเรียนเข้ามาใช้บริการด้วย เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน

นอกจากนี้ “ครูอ้อ” ยังบอกอีกว่าเด็กนักเรียนที่นี่ยังเป็นนักกิจกรรมตัวยง โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวกับด้านศิลปหัตถกรรม

“เด็กที่นี่จะชอบวาดรูปมาก วาดกันเก่งเกือบทุกคน แต่ยังระบายสีไม่ค่อยสวย นอกจากนี้เด็กๆ ยังเก่งทางด้านงานฝีมือ เช่น การทอผ้า การทำไม้กวาด ซึ่งครูแต่ละกลุ่มสาระจะเป็นผู้สอน หรือเมื่อทางคณะครูได้ความรู้ใหม่ๆ ก็มาถ่ายทอดให้นักเรียน และเมื่อมีการจัดประกวดมีการแข่งขัน เราก็จะส่งเด็กไปแข่งด้วย พอเด็กรู้ พวกเขาจะตื่นเต้น พยายามฝึกกันอย่างเต็มที่”

ด้าน “ครูภา” สุดาวรรณ ใจอูบ ครูสอนชั้น ป.2 และครูบรรณารักษ์ห้องสมุด เล่าให้ฟังว่า เด็กๆ นักเรียนที่นี่เป็นเด็กน่ารัก ตั้งใจเรียนหนังสือสามารถ ฟัง พูด เขียนภาษาไทยได้ แม้ห้องสมุดจะเล็กหนังสือจะเก่า แต่ทางโรงเรียนก็ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้แก่นักเรียน

“เด็กๆ จะชอบเข้าห้องสมุด ชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ จะสนใจนิทาน ส่วนเด็กโตจะชอบหนังสือแนวประวัติศาสตร์ การ์ตูนที่ให้ความรู้ นอกจากนี้ครูยังจัดกิจกรรมให้นักเรียนรักการอ่าน โดยจะทำสมุดบันทึกรักการอ่านให้แก้เด็ก เมื่อเขาเข้าห้องสมุดก็ให้เค้าบันทึกว่าหนังสือที่อ่านมีเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง สาเหตุที่เราทำตรงนี้ขึ้นมาเพราะเด็กที่นี่ยังมีปัญหาเรื่องการอ่าน ดังนั้น จึงอยากให้เขาอ่านออก และอยากได้หนังสือที่เกี่ยวกับส่งเสริมการอ่านเพิ่มขึ้น” ครูภา กล่าว

คราวนี้หันมาถามน้องๆ ที่นี่กันบ้างว่ารู้สึกอย่างไรกับการเรียน

“น้องบี” พัชรี บุญดวง นักเรียนชั้น ม.3 ก็บอกว่า มีแผนจะเรียนต่อสายอาชีพ หรือ ปวช.สายบัญชี เพราะชอบวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งถึงแม้จะชอบทางด้านนี้ แต่โดยส่วนตัวแล้วกลับชอบอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์มากกว่า

“หนังสือทุกประเภทให้ความรู้ทั้งหมด แล้วแต่ว่าเราชอบหนังสืออะไร อย่างเช่น หนูชอบอ่านแนวประวัติศาสตร์ เพราะจะทำให้เรารู้เรื่องในอดีตที่เราไม่เคยรู้เรื่องที่ผ่านมาแล้ว และอยากได้หนังสือแบบนี้เยอะๆ เพราะน้องๆ จะได้มีหนังสืออ่านมากขึ้น”

เช่นเดียวกับ “น้องแพม” ด.ญ.วิไลพร หยกจันทร์สว่าง นักเรียนชั้น ม.3โรงเรียนบ้านห้วยกุ้ง และเป็นหัวหน้าห้องชั้นม.3 ซึ่งบอกว่าตนชอบเรียนหนังสือ และในอนาคตจะเรียนต่อชั้น ม.4 แน่นอน โดยจะเน้นเรียนสายคณิตศาสตร์ เนื่องจากวิชานี้ เพราะสอนให้คิดวิเคราะห์ คิดเลขเป็น แม้ว่าจะไม่มีเงินเรียนหนังสือแต่พ่อกับแม่ก็สนับสนุนให้เรียน

“พ่อกับแม่บอกว่าให้ตั้งใจเรียนจะได้มีอนาคตที่ดี และหนูเองก็ชอบเรียนเพราะทำให้เราเป็นคนมีความรู้ เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือที่ทำให้เราเก่งขึ้น สามารถอ่านออก เขียนได้ และโตขึ้นอยากเป็นครูสอนเด็กบนดอยที่ด้อยโอกาสยที่อยู่ห่างไกล เพื่อที่จะให้เค้ามีโอกาสเรียนหนังสือเก่งๆ และมีอนาคตดีๆเหมือนคนในเมือง” น้องแพม กล่าวแบบภาคภูมิใจ
กิจกรรมละครหุ่นมือ
น้องแพม  วิไลพร หยกจันทร์สว่าง
ร.ร.บ้านห้วยกุ้ง
น้องๆ ร.ร.บ้านห้วยกุ้ง
น้องๆนั่งอ่านหนังสือกันอย่างตั้งใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น