สมศ.เปิดเผยผลการรับรองมาตรฐานสถานศึกษารอบสอง พบสถานศึกษาสังกัด สพฐ.ไม่ผ่านการประเมินมากกว่าสถานศึกษาสังกัดอื่น ส่วนสถานศึกษาอาชีวศึกษาไม่ผ่านการประเมินอีกหลายแห่ง อึ้ง! มีโรงเรียนสาธิตไม่ผ่านการประเมินด้วย “สมหวัง” ระบุสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งมีอาจารย์จบ ป.เอก ไม่ถึงร้อยละ 2
ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา รอบสอง พ.ศ.2549-2551 ว่า ผลการประเมินคุณภาพระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ปฐมวัย) มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินทั้งหมด 20,184 แห่ง ผ่านการรับรอง 16,229 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80.41 และไม่ผ่านการรับรอง 3,955 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 19.59
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามสังกัด พบว่า โรงเรียนในสังกัด กทม.ที่เข้ารับการประเมินทั้งหมด 430 แห่ง ผ่านการรับรองในอัตราสูงสุด คือ 408 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 94.88 และไม่ผ่านการรับรอง 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.12 สังกัดเทศบาล ที่เข้ารับการประเมินทั้งหมด 403 แห่ง ผ่านการรับรอง 372 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.31 และไม่ผ่านการรับรอง 31แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.69 สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เข้ารับการประเมินทั้งหมด 1,254 แห่ง ผ่านการรับรอง 1,125 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.71 และไม่ผ่านการรับรอง 129 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10.29 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประเภทโรงเรียนสาธิต เข้ารับการประเมินทั้งหมด 9 แห่ง ผ่านการรับรอง 8 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 88.89 และไม่ผ่านการรับรอง 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 11.11 และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้ารับการประเมินทั้งหมด 18,088 แห่ง ผ่านการรับรอง 14,316 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 79.15 และไม่ผ่านการรับรอง 3,772 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 20.85
ผอ.สมศ.กล่าวต่อไปว่า ผลการประเมินเมื่อพิจารณาตามขนาดสถานศึกษา พบว่า สถานศึกษาขนาดเล็กมีอัตราผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สมศ.ต่ำสุด คือ เข้ารับการประเมินทั้งหมด 14,389 แห่ง ผ่านการรับรองเพียง 11,000 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 76.45 และไม่ผ่านการรับรอง 3,389 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 23.55 สถานศึกษาขนาดกลาง เข้ารับการประเมินทั้งหมด 4,904 แห่ง ผ่านการรับรอง 4,371 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.13 และไม่ผ่านการรับรอง 533 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10.87 สถานศึกษาขนาดใหญ่ เข้ารับการประเมินทั้งหมด 684 แห่ง ผ่านการรับรอง 654 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95.61 และไม่ผ่านการรับรอง 30 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.39 และสถานศึกษาขนาดใหญ่พิเศษผ่านการรับรองสูงสุด โดยเข้ารับการประเมินทั้งหมด 207 แห่ง ผ่านการรับรอง 204 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98.55 และไม่ผ่านการรับรอง 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.45 ขณะเดียวกัน หากพิจารณาที่ตั้งของสถานศึกษาพบว่า สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในเมืองผ่านการรับรองมากกว่าสถานศึกษาที่ตั้งอยู่นอกเมือง
ศ.ดร.สมหวัง กล่าวอีกว่า สำหรับผลการประเมินคุณภาพระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับประถมถึงมัธยมศึกษา มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินทั้งหมด 22,456 แห่ง ผ่านการรับรอง 17,892 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 79.68 และไม่ผ่านการรับรอง 4,564 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 20.32 ทั้งนี้หากพิจารณาตามสังกัด พบว่า โรงเรียนในสังกัด กทม.ที่เข้ารับการประเมินทั้งหมด 435 แห่ง ผ่านการรับรองในอัตราสูงสุด คือ 417 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95.86 และไม่ผ่านการรับรอง 18 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.14 สังกัด สกอ. ประเภทโรงเรียนสาธิต เข้ารับการประเมินทั้งหมด 14 แห่ง ผ่านการรับรอง 13 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.86 และไม่ผ่านการรับรอง 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.14 สังกัดเทศบาล เข้ารับการประเมินทั้งหมด 421 แห่ง ผ่านการรับรอง 375 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.07 และไม่ผ่านการรับรอง 46 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10.93 สังกัด สช.เข้ารับการประเมินทั้งหมด 1,048 แห่ง ผ่านการรับรอง 933 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.03 และไม่ผ่านการรับรอง 115 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10.97 และสังกัด สพฐ. เข้ารับการประเมินทั้งหมด 20,538 แห่ง ผ่านการรับรอง 16,154 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 78.65 และไม่ผ่านการรับรอง 4,384 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 21.35
ผอ.สมศ.กล่าวต่อไปว่า ผลการประเมินเมื่อพิจารณาตามขนาดสถานศึกษา พบว่า สถานศึกษาขนาดเล็กมีอัตราผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สมศ.ต่ำสุด คือ เข้ารับการประเมินทั้งหมด 14,796 แห่ง ผ่านการรับรองเพียง 11,209 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 75.76 และไม่ผ่านการรับรอง 3,587 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 24.24 สถานศึกษาขนาดกลาง เข้ารับการประเมินทั้งหมด 6,003 แห่ง ผ่านการรับรอง 5,091 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 84.81 และไม่ผ่านการรับรอง 912 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15.19 สถานศึกษาขนาดใหญ่ เข้ารับการประเมินทั้งหมด 1,111 แห่ง ผ่านการรับรอง 1,057 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95.14 และไม่ผ่านการรับรอง 54 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.86 และสถานศึกษาขนาดใหญ่พิเศษผ่านการรับรองสูงสุด โดยเข้ารับการประเมินทั้งหมด 546 แห่ง ผ่านการรับรอง 535 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 97.99 และไม่ผ่านการรับรอง 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.01 ขณะเดียวกันหากพิจารณาที่ตั้งของสถานศึกษา พบว่า สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในเมืองผ่านการรับรองมากกว่าสถานศึกษาที่ตั้งอยู่นอกเมือง
สำหรับผลการประเมินคุณภาพฯ สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา 199 แห่ง จากทั้งหมด 258 แห่ง มีสถาบันอุดมศึกษาที่ผ่านการรับรอง 185 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.97 ไม่รับรอง 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 2.51 และรอการพินิจ 9 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.52 แบ่งเป็น ม.ในกำกับของรัฐ 13 แห่ง ม.รัฐ 12 แห่ง และ ม.ราชมงคล 5 แห่ง ผ่านการรับรองทั้งหมด ม.เอกชน ผ่านการรับรอง 46 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85.18 ไม่รับรอง 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.55 รอการพินิจ 5 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 9.26 ม.ราชภัฏ ผ่านการรับรอง 38 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95 รอการพินิจ 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5 สถาบันเฉพาะทาง ผ่านการรับรอง 56 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98.25 รอการพินิจ 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.75 และวิทยาลัยชุมชน ผ่านการรับรอง 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 83.33 ไม่รับรอง2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 11.11 รอการพินิจ 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.56
สำหรับผลการประเมินคุณภาพฯ สถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา 549 แห่ง จากทั้งหมด 808 แห่ง มีสถานศึกษาอาชีวศึกษา ที่ได้รับการรับรอง 463 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 84.33 ไม่รับรอง 59 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10.75 และรอการพินิจ 27 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.92 แบ่งเป็นวิทยาลัยของรัฐ ได้รับการรับรอง 301 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 89.85 ไม่รับรอง 23 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 6.87 รอการพินิจ 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 3.28 โรงเรียนเอกชน ได้รับการรับรอง 121 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 73.78 ไม่รับรอง 32 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 19.51 รอพินิจ 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 6.71 และวิทยาลัยสารพัดช่าง ผ่านการรับรอง 41 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82 ไม่รับรอง 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8 และรอพินิจ 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10
ศ.ดร.สมหวัง กล่าวว่า จากผลการประเมินดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนที่ไม่ผ่านการรับรองส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนจะบริหารงานอย่างไรก็ไม่ได้คุณภาพ ดังนั้นควรจะมีการแก้ปัญหาด้วยการหาผู้อุปภัมถ์และทำโรงเรียนเล็กให้เป็นโรงเรียนใหญ่ด้วยการจัดเป็นกลุ่มโรงเรียน (cluster) ส่วนระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาปัญหาที่พบ คือ ครู อาจารย์ขาดคุณภาพและคุณวุฒิ โดยระดับอาชีวศึกษาพบว่าครู อาจารย์ร้อยละ 74 มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี ที่เหลือเป็นลูกจ้างชั่วคราวและส่วนหนึ่งยังมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ส่วนระดับอุดมศึกษาหลายแห่งมีอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาเอกไม่ถึงร้อยละ 2 ที่เหลือเป็นวุฒิปริญญาโทและตรี รวมทั้งอาจารย์พิเศษเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผลิตบัณฑิตไม่ได้คุณภาพ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าวเพิ่งจะได้รับการปรับเปลี่ยนสถานภาพ โดยมีการเปลี่ยนแค่ป้ายชื่อแต่ไม่ได้เตรียมความพร้อมในการพัฒนาคุณภาพอาจารย์
ผอ.สมศ.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม สมศ.ได้ส่งรายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษารอบ 2 ให้หน่วยงานต้นสังกัดทราบแล้ว ดังนั้น ถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัดที่ต้องหาทางเยียวยาเพื่อส่งเสริมสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานขั้นต่ำให้ได้คุณภาพและมาตรฐานโดยด่วน โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา และระดับอาชีวศึกษาที่กำลังจะเปิดสอนระดับปริญญาตรีควรจะนำผลการประเมินของ สมศ.ไปพิจารณาคัดเลือกสถาบันที่จะเปิดสอนปริญญาตรี โดยต้องผ่านการรับรองในระดับดีมาก ไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้ผลิตบัณฑิตไม่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งจะไม่ยุติธรรมกับคนที่มาเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมศ.ได้ประกาศรายชื่อสถานศึกษาที่มีผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง ผ่านทางเว็บไซต์ของสมศ. http://www.onesqa.or.th โดยสถานศึกษาสังกัด สกอ. ประเภทโรงเรียนสาธิตที่ไม่ผ่านการรับรองระดับปฐมวัย และประถมศึกษา-มัธยมศึกษา ได้แก่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
สถานศึกษาอาชีวศึกษาไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน จำนวน 59 แห่ง แบ่งเป็น ประเภทสถาบันของรัฐ ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี, วิทยาลัยการอาชีพกันตัง จ.ตรัง, วิทยาลัยการอาชีพดอกคำใต้ จ.พะเยา, วิทยาลัยการอาชีพด่านซ้าย จ.เลย, วิทยาลัยการอาชีพท้ายเหมือง จ.พังงา, วิทยาการอาชีพนวมินทราชูทิศ กทม., วิทยาลัยการอาชีพเนินขาม จ.ชัยนาท, วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์, วิทยาลัยการอาชีพบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ, วิทยาลัยการอาชีพปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์, วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จ.นครปฐม, วิทยาลัยการอาชีพสระบุรี จ.สระบุรี, วิทยาลัยการอาชีพสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี, วิทยาลัยการอาชีพเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง จ.ระนอง, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จ.สตูล, วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กทม., วิทยาลัยเทคนิคตรัง จ.ตรัง, วิทยาลัยเทคนิคระนอง จ.ระนอง, วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร, วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี, วิทยาลัยประมงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร และวิทยาลัยอาชีวศึกษาลพบุรี จ.ลพบุรี
ประเภทโรงเรียนเอกชน ได้แก่ ร.ร.คฤหบริหารธุรกิจ จ.นครพนม, ร.ร.ช่างสำรวจนครปฐมและเทคโนโลยี จ.นครปฐม, ร.ร.ชุมพรบริหารธุรกิจ จ.ชุมพร, ร.ร.ชุมแพบริหารธุรกิจเทคโนโลยี จ.ขอนแก่น, ร.ร.เซนต์โยเซฟอินเตอร์เทคโนโลยี จ.นครปฐม, ร.ร.เทคนิคธุรกิจบัณฑิตย์ จ.นครศรีธรรมราช, ร.ร.เทคนิคพาณิชยการนครกระบี่ จ.กระบี่, ร.ร.เทคนิคพาณิชยการพิษณุโลก จ.พิษณุโลก, ร.ร.เทคโนโลยีกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์, ร.ร.เทคโนโลยีบริหารธุรกิจเปรมฤทัย จ.สมุทรปราการ, ร.ร.เทคโนโลยีปทุมธานี จ.ปทุมธานี, ร.ร.เทคโนโลยีพาณิชยการนครนายก จ.นครนายก, ร.ร.เทคโนโลยีเลยบริหารธุรกิจ จ.เลย, ร.ร.เทคโนโลยีวีรพัฒน์ จ.นครนายก, ร.ร.นครเทคนิค จ.นครศรีธรรมราช, ร.ร.นครอาชีวศึกษา จ.นครศรีธรรมราช, ร.ร.บริหารธุรกิจภาคใต้ จ.ภูเก็ต, ร.ร.บัวใหญ่เทคโนโลยีพาณิชยการ จ.นครราชสีมา, ร.ร.โปลีเทคนิคอุดรธานี จ.อุดรธานี, ร.ร.พาณิชยการชลบุรี จ.ชลบุรี, ร.ร.พาณิชยการทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช, ร.ร.พาณิชยการธัชรินทร์ กทม., ร.ร.พณิชยการปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี, ร.ร.พณิชยการเพชรบุรี จ.เพชรบุรี, ร.ร.พณิชยการภาษานุสรณ์บางแค กทม., ร.ร.รักธรรมบริหารธุรกิจ จ.ชุมพร, ร.ร.วราธิปบริหารธุรกิจ กทม., ร.ร.วัฒนพฤกษาบริหารธุรกิจ จ.นนทบุรี, ร.ร.วิศวกรรมเทคโนโลยีบริหารธุรกิจ จ.ชลบุรี, ร.ร.ส่องแสงพณิชยการ จ.สงขลา, ร.ร.อาชีวะดอนบอสโกสุราษฏร์ จ.สุราษฏร์ธานี และ ร.ร.อินเตอร์เทคโนโลยีแห่งเอเชีย จ.นครพนม
ประเภทวิทยาลัยสารพัดช่าง(วช.) ได้แก่ วช.ธนบุรี วช.ปราจีนบุรี วช.สมุทรปราการ และ วช.สุโขทัย
ส่วนสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ได้รับรองมาตรฐาน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ม.นานาชาติสแตมฟอร์ด จ.เพชรบุรี วิทยาลัยนครราชสีมา วิทยาลัยอิสลามยะลา วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร และวิทยาลัยชุมชนตราด จ.ตราด