กทม.วางมาตรการรับมือภัยแล้งปี 52 คาดไม่กระทบกับพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน จัดจุดรับน้ำประปาฟรีแก่พื้นที่ขาดแคลน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.เกี่ยวกับมาตรการรับมือภัยแล้ง ปี 2552 ว่า กทม.กำหนดแผนหลักในการปฏิบัติภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กทม.ประจำปี 2552 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กทม.ปี 2552 ซึ่งตั้งอยู่ที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ กำหนดมาตรการและยุทธศาสตร์การปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมประมวลผล รวบรวมข้อมูลเพื่อตัดสินใจ และพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้ กทม.ได้ประสานการประปานครหลวง (กปน.) นำน้ำประปาแจกจ่ายแก่ประชาชนที่เดือดร้อนขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ซึ่งการประปานครหลวงได้เตรียมจุดจ่ายน้ำประปาสำหรับการนี้ 24 จุด ตามเขตที่คาดว่าจะประสบปัญหา โดยเขตต้องนำรถน้ำที่สะอาดไปรองรับเพื่อแจกจ่ายประชาชนฟรี
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่การเกษตรของ กทม.ที่มีการปลูกข้าวประมาณ 90,000 ไร่ จากที่กำหนดเป้าหมายปลูกข้าวไว้ที่ 70,000 ไร่ กทม.ได้ประสานกรมชลประทานเพื่อสำรองน้ำไว้จ่ายให้ประชาชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 900 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเป็นน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และบางส่วนผันจากแม่น้ำแม่กลอง คาดว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเกษตร รวมถึงการปศุสัตว์ของ กทม.มีการประสานให้สำรองน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มไม่ให้ไหลเข้ามาส่งผลกระทบต่อพื้นที่แล้ว
นอกจากนี้ เนื่องจากหน้าแล้ง สภาพอากาศแห้ง อาจก่อให้เกิดการเผาหญ้า เกิดไฟลามทุ่งได้ง่าย ซึ่งทุกปีจะมีไฟไหม้ทุ่งประมาณ 2,000 ครั้งต่อปี ได้สั่งการทุกสำนักงานเขตสำรวจพื้นที่ว่าง หรือพื้นที่เสี่ยงต่อไฟไหม้ ให้เตรียมรถน้ำพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ไว้ให้พร้อม ไถหน้าดินป้องกันการลุกลาม และประสานงานใกล้ชิดกับ สปภ.ในการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงประชาชนต้องระมัดระวังอัคคีภัยในครัวเรือน ไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ต้องเตรียมสำรองน้ำไว้เพื่อดับไฟ หรือเพื่อใช้อุปโภคบริโภค ลดการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย ไม่เผาหญ้า วัชพืช หรือขยะ จัดหาอุปกรณ์ดับเพลิงขนาดเล็กไว้ประจำบ้าน หากมีปัญหาด้านขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้หรือแจ้งเหตุภัยแล้ง ติดต่อ โทร.0-2270-0889 หรือแจ้งไฟไหม้ โทร.199 ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนโรคที่มากับฤดูร้อน เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบาด สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม.ได้กำหนดมาตรการป้องกันไว้แล้ว นอกนั้นยังเตรียมยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้ความช่วยเหลือประชาชนในการควบคุมโรคระบาดด้วย