xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอเอดส์จี้ปลด “พวงรัตน์” อธิบดีกรมทรัพย์สิน จุ้นขวางทำซีแอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
เอ็นจีโอเอดส์ จี้ปลด อธิบดีกรมทรัพย์สิน ชี้ ส่ง จ.ม.ร่อนถึง สธ.ขวางทำซีแอล ทำเกินหน้าที่ กดดัน “อลงกรณ์” หารือสหรัฐฯ ไม่ทำเกินทริปส์ หรือเอาซีแอลแลกเลื่อนอันดับไทยดีขึ้น

นายบริพัตร ดอนมอญ ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์เอชไอวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้เดินทางเข้าพบนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ (พณ.) เพื่อหารือในประเด็นที่ นายอลงกรณ์ จะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 9-17 มี.ค.เพื่อทำความเข้าใจกับสหรัฐฯ ว่า ไทยไม่เห็นด้วยที่จะจัดสถานะไทยให้เข้าไปอยู่ในบัญชีประเทศที่ไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับรุนแรงสุด (พีเอฟซี) นอกจากนี้ เครือข่ายยังได้ยื่นข้อเสนอว่าให้ปลด นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากที่ผ่านมาในการปฏิบัติงานไม่เคยมีความเข้าใจในเรื่องการเข้าถึงยา รวมถึงการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ด้วยที่ยกแต่ข้อมูลเก่ามาอ้าง

“นายอลงกรณ์ ได้ออกตัวว่า ได้เป็นผู้สั่งการให้นางพวงรัตน์ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการให้ข้อมูลตอบกลับความเห็นของเอกชนสหรัฐฯต่อสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินของไทยจริง แต่ นางพวงรัตน์ ได้ทำเกินหน้าที่โดยได้เสนอแนวทางให้ไม่ทำซีแอลเพื่อให้สหรัฐฯจัดอันดับสถานะไทยในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ท่านก็ไม่ได้รับปากในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องการให้ฝ่ายการเมืองได้คิดกับเรื่องดังกล่าว เพราะที่ผ่านมา นางพวงรัตน์ มักยกข้อมูลเก่าๆ มาอ้างอิง ไม่สนใจข้อเท็จจริงข้อมูลจากผู้ป่วยเลย” นายบริพัตร กล่าว

นายบริพัตร กล่าวต่อว่า ในการหารือครั้งนี้เครือข่ายได้ยื่นข้อเสนอให้นายอลงกรณ์ไม่รับปากกับสหรัฐฯ ว่า ไม่ทำซีแอลอีกต่อไป เพื่อแลกกับการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับดีขึ้น รวมถึงการไปหารือในครั้งนี้จะต้องเป็นไปตามที่รับปากกับสาธารณชนว่าจะไม่ลงนามข้อตกลงไปเกินกว่าข้อตกลงขององค์การการค้าโลก โดยหน้าที่ในเรื่องการจัดหายาราคาถูกจะเข้าถึงยาให้ได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งทางเครือข่ายฯจะเฝ้าติดตามผลการหารือหลังจากที่มีการเจรจาอย่างใกล้ชิด

อนึ่งในวันที่ 11 มี.ค.องค์กรพัฒนาเอกชนในสหรัฐ มีกำหนดการหารือกับนายอลงกรณ์ ที่อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อต้องการทราบท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการทำซีแอลและการเข้าถึงยา

วันเดียวกันนี้ เวลา 05.00 น.นาย รอน เคิร์ก (Ron Kirk) ผู้ที่ถูกเสนอชื่อจากรัฐบาลของประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ตอบข้อซักถามต่างๆ ถึงนโยบายก่อนที่จะโหวตให้ดำรงตำแหน่งโดยมี ส.ว.สหรัฐหลายคน อาทิ รอน ไวเดน และ เดบบอรา สแตปนาว ตั้งคำถามถึงท่าทีและนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่มีต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับการประกาศบังคับใช้สิทธิของไทย

นาย เดบบอรา สแตปนาว จากรัฐมิชิแกน ได้เตรียมตั้งคำถาม 3 ข้อ ซึ่งหาก นายรอน ไม่สามารถตอบคำถามได้ สามารถตอบเป็นลายลักษณ์อักษรตามมาภายหลัง โดยคำถามมีดังนี้ คือ 1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าสหรัฐฯ สมควรเลิกแนวทางปฏิบัติต่างๆ อาทิ การบรรจุบทบัญญัติในข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีแทนการข้อตกลงทริปส์ และการสาธารณสุขที่ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกทุกๆ ประเทศได้ลงนามในปฏิญญาโดฮา รวมถึงเลิกกดดันลงโทษประเทศที่ใช้มาตรการที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาราคาถูกเหล่านี้ และหันมาเชิดชูพันธกรณีที่ได้ให้ไว้ในปฏิญญาโดฮา ซึ่งอนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรได้ตามเหตุผลที่กำหนดขึ้นเอง และไม่สมควรขึ้นบัญชีประเทศต่างอให้เป็นประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล)

2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า การขึ้นบัญชีประเทศต่างๆ อาทิเช่น ไทย จากสถานะประเทศที่ต้องจับตามอง (ดับบลิวแอล) เป็นเป็นประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยยูเอสทีอาร์อ้างเหตุผลจากการประกาศซีแอล อย่างถูกต้องตามกฎหมายของไทยทั้ง 3 ฉบับ กับยาต้านไวรัสเอดส์ 2 รายการ และยารักษาโรคหัวใจ 1 รายการ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยยากไร้โดยผ่านระบบสาธารณสุขของประเทศ ในปี 2551 และประเทศไทยยังคงถูกขึ้นบัญชีดังกล่าวโดยใช้ข้ออ้างแบบเดิมว่าหนึ่งในสาเหตุนั้น มาจากการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ของไทย และท่านจะทำการทบทวนแนวทางปฏิบัติเช่นนี้และพิจารณาให้ยุติการกระทำดังกล่าวนี้หรือไม่

3.ท่านจะสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากจนหรือไม่ เช่น การทำซีแอลยารักษาโรคเอดส์ชนิดใหม่ ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงยาสูตรรวมชนิดเม็ด ยาต้านไวรัสสูตรสำรอง รวมถึงจะสนับสนุนมาตรการการทำซีแอลของสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ด้วยหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น