อย.เผยผลตรวจโรงงานผลิตนมโรงเรียน 70 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์ 3 แห่ง นำศรีชลฯ เจออีโคไล วิทยาลัยเกษตรฯ ขอนแก่น ไม่มีใบรับรองคุณภาพน้ำ ส่วน อ.ส.ค.โรงงานน้ำขัง ไม่สะอาด สั่งปรับ 10,000 บาท พร้อมปิดโรงงานปรับปรุงจนกว่าจะได้มาตรฐาน ส่วนผลตรวจคุณภาพนมผ่านเกณฑ์ 35 ตัวอย่าง ไม่ผ่าน 8 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เจอแบคทีเรียเกินค่ามาตรฐาน
วันนี้ (10 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจประเมินสถานที่ผลิตนมพร้อมดื่มในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนตามหลักเกณฑ์จีเอ็มพี พบว่า ผลการตรวจสถานที่ผลิตนมโรงเรียนจำนวน 70 แห่ง ผลตรวจแล้วเสร็จ 62 แห่ง โดยผ่านตามเกณฑ์จำนวน 59 แห่ง และไม่ผ่านเกณฑ์ 3 แห่ง ได้แก่
1.โรงงานนำศรีชลเครื่องดื่ม จ.ชุมพร เนื่องจากถังรองพักบรรจุนมเปิดได้ง่าย ทำให้เกิดการปนเปื้อน โดย อย.ตรวจพบเชื้ออีโคไล 2.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น ไม่มีใบรับรองตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ และเครื่องพาสเจอร์ไรซ์ไม่ได้มาตรฐาน และ 3.องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โครงสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีน้ำขัง ไม่สะอาด
“ขณะนี้ อย.ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับโรงงานละ 10,000 บาท แล้ว รวมทั้งให้ปิดปรังปรุงโรงงานชั่วคราว โดย อย.จะตรวจประเมินมาตรฐานซ้ำอีกครั้ง สำหรับโรงงานนำศรีชลเครื่องดื่ม แจ้งว่า จะปิดโรงงานเพื่อสร้างโรงงานใหม่ เพราะโรงงานเก่าตั้งมานาน 20 ปีแล้ว ส่วนอีก 2 แห่ง สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ไม่ยากคาดว่าภายใน 10 วัน ก็น่าจะเสร็จ” นพ.พิพัฒน์
นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มเพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐาน ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 68 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ออกแล้ว 43 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมาตรฐานผ่านตามเกณฑ์จำนวน 35 ตัวอย่าง ไม่ผ่านตามเกณฑ์จำนวน 8 ตัวอย่าง คือ 1.นมที่ผลิตจากโรงงานนำศรีชลเครื่องดื่ม มีไขมันน้อยกว่ามาตรฐาน 2.นมที่ผลิตจากโรงงานแปรรูปนมสด มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลย์สงคราม จ.พิษณุโลก มีปริมาณเนื้อนมน้อยกว่ามาตรฐาน ซึ่งทั้ง 2 แห่ง จะถูกเปรียบเทียบปรับ 10,000 บาท
“ส่วนอีก 6 ตัวอย่าง ผลตรวจเบื้องต้นพบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์เกินกว่ามาตรฐานคือมากกว่า 10,000 ซีเอฟยู/ซีซี แต่เป็นจุลินทรีย์ไม่อันตราย จึงต้องตรวจซ้ำว่าการปนเปื้อนจุลินทรีย์เกิดในระหว่างการผลิต หรือเกิดจากการเก็บและขนส่งไม่ได้มาตรฐาน โดยจะทราบผล ภายใน 5-7 วันนี้ หากพบว่าเป็นจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค และปนเปื้อนระหว่างการผลิต อย.จะสั่งให้หยุดการผลิตทันที เพื่อตรวจสอบมาตรฐานโรงงานซ้ำอีกครั้ง” นพ.พิพัฒน์ กล่าว
ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ อย.ตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนเป็นระยะทั้งก่อนการผลิต และหลังการผลิต หากพบว่าไม่ได้มาตรฐานให้อย. สั่งปิดโรงงานทันที เพื่อเด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพโดยทั่วถึง ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการตรวจสอบนมโรงเรียน เป็นเงินถึง 40 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การนำเข้านมผงเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี อาจมีการสำแดงเท็จ ซึ่งสุดท้ายก็จะนำนมผงมาผลิตเป็นนมสำหรับคนดื่มได้ ทำให้เป็นนมไม่มีคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ตรวจสอบ และก่อนหน้านี้ อย.ได้เสนอให้นมที่นำเข้าเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ควรมีการผสมสีผสมอาหารเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ