xs
xsm
sm
md
lg

แฉเอฟทีเอไทย-อียู หมกเม็ด สอดไส้กีดกันซีแอลยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ภาคประชาชนจี้รัฐทบทวนร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ตาม ม.190 อันตรายห่วง ครม.ลักไก่ ไม่พิจารณาเรื่องผ่านสภาก็ได้ เตรียมเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนประกบ ชี้ หากไม่แก้ไขกฎหมายใหม่เดินหน้าฟ้องศาลปกครองแน่ ด้าน นักวิชาการเตือนรัฐบาลเอฟทีเอ-อียู เหนือชั้นสอดกีดกันซีแอลยา ถูกผูกขาดตลาด ไม่มียาสามัญขึ้นทะเบียน แย่ยิ่งกว่าเอฟทีเอสหรัฐฯ แถมกระทบเกษตรกรรม เอื้อต่างชาติทำกินในไทย ขายข้าว ปลูกผัก ลงทุนได้ 100% จากเดิมแค่ 50% กลัวรัฐบาลตกม้าตาย แนะรีบนำผลลงนามอาเซียนซัมมิต ที่หัวหิน เข้าสภา-ประกาศให้สาธารณชนรับรู้ เพื่อมีผลตามกฎหมาย

วันที่ 9 มีนาคม นายจักรชัย โฉมทองวดี นักวิจัยโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้ทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศกำลังน่าเป็นห่วง เห็นได้จากการเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่มีการทบทวน และหลายกรณีถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะตามมาตรา 190 หากมีการทำข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับต่างประเทศจะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไทย และประกาศให้สาธารณชนคนไทยรับทราบก่อนถึงจะมีผลทางกฎหมาย ซึ่งล่าสุด รัฐบาลได้พยายามเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ....ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยได้นำร่างของรัฐบาลชุดที่แล้วมาใช้ โดยมิได้มีการทบทวนใดๆ และในวันที่ 11 มี.ค.จะมีการล็อบบี้ให้รัฐสภารับหลักการวาระที่ 1 ของกฎหมายฉบับรัฐบาล

นายจักรชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา การพิจารณาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไม่เป็นข่าว แต่ในทางปฏิบัติกลับมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ แต่ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือฯของรัฐบาลผลักดันอยู่นั้น หากมีผลบังคับใช้จะทำให้มีปัญหาตามมา เพราะในร่างกฎหมายนี้ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะนำเรื่องใดเข้าสู่กาพิจารณาของรัฐสภาหรือไม่ และส่งความคิดเห็นของครม.ไปให้สภาพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ในกรณีที่ต้องส่งเรื่องเข้าสภา หากไม่ท้วงติงกลับมาภายใน 15 วัน ถือว่ายอมรับความคิดเห็น ครม.สามารถดำเนินการทำข้อตกลงระหว่างรัฐตามมาตรา 190 ได้ทันที

นายจักรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ภายหลังจากที่ ครม.มีความคิดเห็นว่ารวมถึงการประกาศให้สาธารณชนทราบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็สามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสื่อสารผ่านทางเว็บไซด์ โดยเปิดเว็บไซด์ให้ประชาชนโพสต์ หรือส่งอีเมล์กลับก็เพียงพอ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ถูกต้องและจะทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะถ้า ส.ส.1 ใน 10 ไม่เห็นก็จะนำเรื่องดังกล่าวไปยื่นร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ อย่างกรณีเรื่องเขาพระวิหาร เรื่องการทำสัญญาของรัฐในอนาคตก็จะมีปัญหาไม่สิ้นสุด จึงขอฟันธงว่า รัฐจะมีปัญหาในการเจรจามากขึ้น

“ทราบว่า ขณะนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ได้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นอีกฉบับ และกำลังอยู่ระหว่างให้นายกรัฐมนตรีลงนามเพื่อเป็นเสนอกฎหมายให้เกิดการพิจารณาคณะกรรมาธิการของสภาพิจารณาควบคู่กัน จึงเป็นเรื่องวัดใจนายกฯด้วย จะยอมให้เกิดคำถามขึ้นหรือไม่ว่า ทำไมรัฐบาลจึงยอมให้มีร่างกฎหมายของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายส.ส. หรือนายกฯจะยึดหลักความถูกต้องเป็นหลักยอมให้มีร่างมาพิจารณาควบคู่กัน ภายในระชาชนกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ 2 สัปดาห์จะล่ารายชื่อครบ 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายที่ได้จัดทำร่างดังกล่าวเสร็จตั้งแต่สมัยสภานิติบัญญัติแล้ว ให้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาควบคู่กันไป”นายจักรชัย กล่าว

นายจักรชัย กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลไม่ยอมให้มีร่างกฎหมายของ ส.ส.เสนอควบคู่เพื่อให้เกิดการพิจารณา รวมถึงสกัดกั้นไม่ให้ร่างของภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณากฎหมายในชั้นกรรมาธิการด้วย สิ่งที่ภาคประชาชนไม่อยากทำ คือ การฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ว่าเรื่องการทำสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้ ขัดกับรัฐธรรมนูญและรัฐบาลก็จะมาตกม้าตายกับเรื่องแบบนี้ ซึ่งภาคประชาชนไม่ได้อยากให้เป็นเช่นนั้น

“ในขณะที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์ขั้นตอนการทำสัญญาระหว่างประเทศ แต่ก็มีการดำเนินการเจรจาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ยุโรปที่ได้เสนอมายังรัฐบาลไทย ซึ่งถือว่าเอฟทีเอยุโรปที่อยู่ระหว่างการเจรจานั้น ข้อเรียกร้องไม่ด้อยไปกว่าของประเทศสหรัฐฯที่เคยเสนอมาจนสร้างกระแสคัดค้านขึ้นเลย เพราะข้อเสนอที่ยื่นมานั้นมีข้อวิตกมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร” นายจักรชัย กล่าว

ด้าน ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หากรัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอที่สหภาพยุโรปได้ยื่นมาจะสร้างผลกระทบด้านยา ซึ่งถือว่าแย่ข้อเสนอของเอฟทีเอสหรัฐฯด้วยซ้ำ โดยข้อเสนอหนึ่งคือการผูกขาดตลาดยาได้ยาวนานขึ้น จากเดิมที่จะบริษัทจะได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรเป็นเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดสิทธิบัตร เช่น ยื่นจดสิทธิบัตรปี 2500 จะได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรถึง 2520 ในระหว่างนี้บริษัทยาจะนำยามาขึ้นทะเบียนเร็ว เพราะจะได้คุ้มครองสิทธิบัตรนาน หากนำยามาขึ้นทะเบียนในปี 2515 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)อนุมัติทะเบียนยาให้ในปี 2517 เท่ากับว่าเหลือเวลาที่คุ้มครองสิทธิบัตรแค่ 3 ปี

“ทั้งนี้ ข้อเสนอของสหภาพยุโรปจะนับเวลาตั้งแต่ยื่นขอจดสิทธิบัตร ถึงระยะเวลาที่ขอขึ้นทะเบียนยา และลบด้วย 5 จะเป็นจำนวนเวลาที่ อย.จะต้องผูกขาดตลาดยาให้กับยานั้นๆ อาทิ ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตร 2500 แต่กว่าจะมาขอจดทะเบียนยากับ อย.จนได้รับอนุมัติปี 2517 เท่ากับว่า หลังจากปี 2517ไปอีก 12 ปี จนถึงปี 2529 จากเดิมได้มีอายุสิทธิบัตรถึงแค่ 2520 เท่านั้น โดย อย.จะต้องให้บริษัทยาดังกล่าวผูกขาดยาชนิดนั้นแต่เพียงผู้เดียว ราคายาจะแพงอย่างไรก็ควบคุมไม่ได้ ทำซีแอลก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถจัดหายาสามัญมาขึ้นทะเบียนได้ เนื่องจากได้มอบสิทธิผูกขาดยาไปแล้ว และบริษัทยาก็จะพยายามนำยามาขึ้นทะเบียนช้าๆ เพื่อจะได้รับระยะเวลาผูกขาดยาจาก อย.นานยิ่งขึ้น” ภญ.จิราพร กล่าว

ภญ.จิราพร กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ยื่นข้อเสนอการผูกขาดข้อมูลทางยาโดยไม่ระบุจำนวนปีในข้อเสนอ ซึ่งการผูกขาดข้อมูลทางยานั้นจะทำให้ยาสามัญไม่สามารถทราบได้เลยว่า มียาชนิดใดอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนยา จึงไม่สามารถมาขึ้นทะเบียนยาได้ อีกทั้งข้อเรียกร้องเสนอให้บริษัทยาสามารถขยายข้อบ่งชี้ในยาเก่าได้ ซึ่งหากพบสรรพคุณในยาเก่า เพิ่มเติมก็สามารถจดสิทธิบัตรและได้รับการคุ้มครองเพิ่มเติมไปอีก และการเพิ่มมาตรการบังคับใช้ และโทษอาญาในกรณีการกระทำผิดตามสิทธิบัตรด้านยา ซึ่งข้อเสนอเอฟทีเอสหรัฐฯไม่มี

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ไม่มีใครสามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดของสัญญาในการลงนามระหว่างกลุ่มอาเซียนได้เลย แม้แต่นักวิชาการที่ติดตามในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าวถือว่ายังไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะต้องการให้หากให้มีผลผูกผันตามกฎหมายไทยจะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงต้องประกาศให้สาธารณชนทราบ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ เพราะไม่อยากให้รัฐบาลต้องตกม้าตาย เพราะเรื่องง่ายๆ แค่นี้

น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิธี (ไบโอไทย) กล่าวว่า ผลกระทบของทรัพย์สินทางปัญญาด้านพืชและความหลากหลายทางชีวภาพภายใต้เอฟทีเอสหภาพยุโรปอาเซียน พบว่า มีเงื่อนไขที่ให้ประเทศคู่เจรจาต้องยอมรับระบบสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ให้ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น สามารถยืดอายุสิทธิบัตรได้ง่ายขึ้น ทำให้ต่างชาติสามารถเข้ามาจัดการระบบพันธุ์กรรมพืชและสัตว์ การปรับปรุงพันธุ์หรือการต่อยอดเพียงเล็กน้อยก็เกิดสิทธิการผูกขาดในการขยายพันธุ์พืช เป็นการเอื้อให้บริษัทขนาดใหญ่สามารถครอบครองตลาดและผูกขาดมากยิ่งขึ้น

“ที่สำคัญ มีการเตรียมการให้ชาวต่างชาติสามารถประกอบอาชีพดังเดิมที่สำคัญ 20 อาชีพ ที่เกี่ยวกับการเกษตรกรรมที่ไทยห้ามต่างชาติมาประกอบอาชีพ เช่น การขายและเพาะปลูกพืชพันธุ์ทางการเกษตรได้ 100% เหมือนกับคนไทย จากเดิมที่สามารถถือครองได้เพียง 50% เช่น การค้าข้าวในโรงสี หากต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้ 100% จะเกิดอะไรขึ้นกับฐานการผลิตพืชพันธุ์เกษตรของทั้งประเทศ การเปิดการค้าเสรีจึงเท่ากับเปิดทางให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาครอบครองสิทธิในประเทศไทยมากขึ้น แทนที่รัฐบาลจะสนับสนุนเกษตรกรในประเทศให้มีเศรษฐกิจฐานรากที่แข็งแรง จึงขอเตือนรัฐบาลว่ารู้หรือไม่ที่กำลังทำให้ระบบการเกษตรตกไปอยู่ในมือบริษัทต่างชาติแบบนี้ และแม้ว่าไทยจะเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่ควรกระตุ้นการลงทุนหรือพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะนี้ โดยรัฐบาลควรจะพิจารณาคุ้มครองปกป้องคนส่วนมากไม่ใช่คนส่วนน้อย” น.ส.กิ่งกร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น