เผย นางสงกรานต์ปีวัว “โคราคะเทวี” ขี่เสือ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์-ซ้ายถือไม้เท้า เสาร์ธงชัย-พุธอธิบดี-ศุกร์อุบาทว์-โลกาวินาศ ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์-น้ำมาก
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นางนพพร มุกดามณี รองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) สำนักงานคณะกรรม การวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เปิดเผยประกาศสงกรานต์ปี พ.ศ.2552 ว่า ตามที่สำนักพระราชวังแจ้งประกาศมายัง สวช.เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ของไทยประจำปี 2552 ตรงกับปีฉลู มนุษย์ผู้ชาย ธาตุดิน เอกศก จุลศักราช 1371 ทางจันทรคติ เป็นอธิกวาร ทางสุริยคติ เป็นปกติ (เอกศก คือ ปีที่จุลศักราชลงท้ายด้วย 1 และ ทางสุริยคติเป็นปกติ หมายถึง ปีนั้นๆ กุมภา พันธ์มี 28 วันเป็นปกติ) วันที่ 14 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับ ณ วันจันทร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 5 เวลา 01 นาฬิกา 13 นาที 14 วินาที (ถ้าดูตามปฏิทินสากล วันที่ 14 เมษายน จะเป็นวันอังคาร แต่ ณ ที่นี้ ยังนับเป็นวันจันทร์เพราะยังอยู่ใน ช่วงตีหนึ่ง หากหลัง 6 โมงเช้าไปแล้ว ทางโหราศาสตร์จึงจะนับเป็นวันใหม่ คือ วันอังคาร)
รองเลขาฯ กวช.กล่าวอีกว่า นางสงกรานต์ ทรงนามว่า โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหารน้ำมัน พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังพยัคฆะ (เสือ) เป็นพาหนะ วันที่ 16 เมษายน เวลา 05 นาฬิกา 06 นาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1371 ปีนี้ วันเสาร์เป็นธงชัย วันพุธเป็นอธิบดี วันศุกร์เป็นอุบาทว์ วันศุกร์เป็นโลกาวินาศ ปีนี้วันจันทร์เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหินพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อลาภะ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร ผลาหาร จะอุดมสมบูรณ์ (ธัญญาหาร คือ ข้าวต่างๆ / ผลาหาร คือ ผลไม้ต่างๆ) เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก
“ประกาศสงกรานต์นี้ ในสมัยก่อนมีสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของราษฎรหลายเรื่อง เช่น ทำให้ทราบวันเวลาขึ้นศักราชใหม่ ทำให้ทราบถึงกำหนดการพระราชพิธี และศาสนพิธีต่างๆ รวมถึงกำหนดกาลเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาในบางปี และกำหนดเกณฑ์น้ำฝนน้ำท่าของปีนั้นๆ เป็นต้น สำหรับในปัจจุบัน แม้ว่าจะได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้แทนการทำนายดังกล่าว ส่งผลให้ประกาศสงกรานต์ลดความสำคัญลง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงเชื่อและถือฤกษ์จากประกาศสงกรานต์ว่าเป็นวาระที่ดีแห่งการเริ่มต้นทำสิ่งที่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต” รองเลขาฯ กวช.กล่าว