สธ.ตอบกลับพาณิชย์ 10 ประเด็น ยันซีแอลถูกต้องโปร่งใสเป็นไปตามหลักสากล ไม่ผิดกฎหมาย นโยบายชัดเจน ไม่ทำพร่ำเพรื่อ หารือกับพรีมามาตลอด ยาปลอมคุมเข้ม ด้านหอการค้า เชื่อ รัฐบาลโอบามาไม่เชื่อตามบริษัทยา หากไทยไขเรื่องคาใจให้กระจ่าง ชี้ เป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อ้างซีแอลใช้มาตรการกีดกั้นทางการค้าช่วงเศรษฐกิจแย่ “หมอมงคล” ย้ำ อย่ากังวล อย่าทำตัวให้คนอื่นดูถูก
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า หลังจากกรมทรัพย์สินทางปัญหา กระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งหนังสือสอบถามนโยบายการดำเนินการตามนโยบายการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) มายังกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นช่วงที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) จะมีการพิจารณาจัดอันดับสถานะของประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงปลายเดือนเมษายน 2552 เป็นประจำทุกปี ได้สั่งการให้อย.สรุปข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้งความเห็นของสมาคมผู้ผลิตและวิจัยยาแห่งสหรัฐอเมริกา (PhaRMA) ต่อสถานการณ์คุ้มครองสิทธิบัตรและผลิตภัณฑ์ยา 10 ประเด็น จะทำหนังสือตอบกลับไปยังกรมทรัพย์สินฯ ในวันที่ 4 มีนาคมนี้ ซึ่งมั่นใจว่า พณ.จะมีความเข้าใจ พร้อมกับจะเสนอให้ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข รับทราบ
นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับสาระสำคัญมีดังนี้ 1.เรื่องการขาดความชัดเจนด้านนโยบายการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) นั้น ขอยืนยันว่า การทำซีแอลที่ผ่านมา สธ.ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มีการกำหนดนโยบายชัดเจน เป็นไปตามหลักสากลในการใช้มาตรการความยืดหยุ่นตามข้อตกลงทริปส์ (ปฏิญญาโดฮา) ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร เฉพาะกรณีที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชนเท่านั้น ไม่ดำเนินการพร่ำเพรื่อ อีกทั้งเจรจาบริษัทยาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความสำเร็จร่วมกันในการยกระดับและพัฒนากิจการด้านสาธารณสุขของไทย
“ไม่มีประเทศใดในโลกประกาศสละสิทธิ์การใช้ซีแอลตรงกันข้ามประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้ซีแอลมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา และหาก สธ.ไม่ทำซีแอลหากมีความจำเป็นก็กลายเป็นละเว้นการใช้อำนาจตามกฎหมายถือว่าการกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว
นพ.ศิริวัฒน์ กล่าต่อว่า 2 กระแสข่าวว่า สธ.จะใช้ซีแอลต่อเนื่อง โดยไม่มีการหารือกับเอกชนนั้น ในรอบปีที่ผ่านมามีการศึกษาข้อมูลยาจิตเวช แต่ไม่มีการทำซีแอลเพิ่มแต่อย่างใด โดย สธ.จะใช้ซีแอลกรณีที่มีความจำเป็น และมีการเจรจาหาความร่วมมือกับภาคเอกชนโดยเฉพาะ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีมา) มาโดยตลอด
ข้อ 3 ที่ผ่านมาไม่มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงยาของประชาชน ทั้งข้อเท็จจริงคือมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล 3 ชุด ทำให้ยังไม่มีการหารือร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาภาคเอกชนด้านยามีโอกาสพบรมว.สธ.เพื่อเสนอแนะความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเด็นการเข้าถึงยาของประชาชน และมีการจัดประชุมใหญ่ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2551
4.มียาปลอมแพร่หลายโดยไม่มีการขยายผลจับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการตามจับกุมลงโทษผู้กระทำผิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะยารักษาโรคหย่อยสมรรถภาพทางเพศ ที่ส่วนใหญ่เป็นยาที่ลักลอบนำเข้า และปัจจุบันการลงโทษทางอาญามีความเหมาะสมยับยั้งการกระทำผิดได้ การเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้นไม่ใช่ทางออกที่จะหยุดยั้งปัญหายาปลอม แต่อยู่ที่ความเข้าใจในปัญหาของฝ่ายต่างที่เกี่ยวข้อง
5.ที่กล่าวหาว่า ไทยไม่มีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายของสหรัฐฯเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดตามพันธกรณีของความตกลงทริปส์แต่ประการใด ประเทศไทยจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่สหรัฐฯ นอกจากนี้ พึงเข้าใจด้วยว่าหลักการขึ้นทะเบียนตำรับยานั้น มุ่งหมายที่การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วยการรับประกันว่ายาที่ขายในท้องตลาดมีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยและมีประสิทธิผลในการใช้รักษาโรค ซึ่งในอนาคตอาจมีการพัฒนาเชื่อมโยงข้อมูลสิทธิบัตรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ แต่ก็เป็นรูปแบบที่ต่างจากสหรัฐฯ
6.ประเทศไทยไม่ให้การผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา ก็เช่นเดียวกันกับเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา ที่ไม่ถือว่าเป็นบทบัญญัติสากลในข้อตกลงทริปส์ จึงทำให้ไทยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ซึ่งสหรัฐพยายามยืดอายุเพื่อผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา จาก20 ปี เป็น 25 ปี ถือเป็นการเรียกร้องที่เกินกว่าข้อตกลงยกเว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงกลกติกาสากลใหม่
7.มีข้อกำหนดให้โรงพยาบาลของรัฐต้องซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมทำให้เอกชนไม่สามารถแข่งขันได้ ทั้งที่ความจริงระบบการจัดซื้อยาเป็นแบบการประมูลหากบริษัทใดมีราคายาไม่แพง มีคุณภาพก็เลือกบริษัทนั้นอยู่แล้ว และปกติยาของภาคเอกชนเป็นยาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง ทางโรงพยาบาลก็จัดซื้อก่อนอยู่แล้วเพราะไม่มีผู้แข่งขัน ขณะที่ยาของ อภ.เป็นยาสามัญ จึงไม่เกิดผลกระทบในการแข่งขัน
8.ไทยมีระบบการติดตามตรวจสอบที่ขึ้นทะเบียนใหม่ ห้ามขายนอกโรงพยาบาลในช่วงเวลา 2-4 ปี นับตั้งแต่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีเพราะสร้างความมั่นใจในยาใหม่ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในไทยว่าจะมีความปลอดภัยและใช้ได้ผลในคนไทย และมาตรการนี้ใช้กับยาตัวใหม่ทุกตัวที่ขึ้นทะเบียนในไทย ไม่ว่าจะพัฒนาโดยบริษัทต่างชาติหรือบริษัทภายในประเทศโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ
9.ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่มีข้อกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตยาต้องเปิดเผยสถานะสิทธิบัตรและต้นทุนการวิจัยยา อาจนำไปใช้ในทางมิชอบ ซึ่งพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่เป็นการแก้ไขปรับปรุงข้อมูลที่ล้าสมัยใช้มานานกว่า 44 ปี การเปิดเผยสถานะสิทธิบัตรเป็นหน้าที่ที่พึ่งกระทำของผู้ผลิตทุกราย เพื่อส่งเสริมการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมในสังคม และข้อมูลดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐ จึงไม่มีบุคคลที่สามารถจะล่วงรู้หรือนำไปใช้ในทางมิชอบได้ ซึ่งขณะนี้พ.ร.บ.ยาฉบับดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการการกฤษฎีกา โดยคืบหน้า 90% แล้ว โดยผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่ายส่วนของสังคมแล้ว
10.ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจะทำให้บริษัทยาต้องรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาในช่วงการทดสอบ ข้อเท็จจริงคือ กฎหมายดังกล่าวต้องการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยผู้ผลิตต้องใส่ใจให้ได้สินค้าที่มาตรฐาน แต่ไม่ใช่ว่าต้องรับผิดชอบเสมอไปกับความไม่ปลอดภัยจากยาที่ทดสอบซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเกิดจากคุณสมบัติของตัวยาเอง หรือเพราะองค์ความรู้ที่จำกัด ดังนั้นจึงไม่ใช่ประเด็นที่น่าห่วง แม้แต่สหรัฐเองก็มีการใช้กฎหมายฉบับนี้มาก่อน
นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานอนุกรรมการประเด็นทางการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า รัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของ บารัค โอบา มาเป็นประธานาธิบดี มีจุดยืนที่ต่างจากรัฐบาลของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ดังนั้น สหรัฐฯน่าจะไม่ปฏิบัติตามความเห็นของบริษัทยา หากไทยแสดงความจำเป็นในการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ให้กระจ่าง โดยการแสดงจุดยืนว่าประชาชนไทยไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีความจำเป็นต่อการรักษาชีวิตเนื่องจากยาราคาแพงและไทยสามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่กำหนดโดยองค์การการค้าโลก (WTO) ไม่ถือเป็นการกระทำผิดกติกาหรือกฎหมายแต่ประการใด
“รัฐบาลสหรัฐฯคงไม่ฟังบริษัทยามากขนาดนั้น แต่ครั้งหน้าหากไทยจะทำซีแอลต้องมีการเจรจาและปรึกษาหารือให้เรียบร้อย โดยให้บริษัทยารู้ตัวก่อนว่า ไทยจะทำซีแอล เพราะที่ผ่านมาไทยไม่ได้คุยให้ชัดเจนว่าจะทำซีแอลเพียงแต่ต่อรองลดราคาเท่านั้น ซึ่งบริษัทยาไม่ยอมลดราคาให้อยู่แล้วและยืนยันราคาเดิมเพราะขายยาราคาเท่ากันหมดทุกที่ทุกประเทศ”นายบัณฑูร กล่าว
นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การจัดสถานะไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หรือ พีดับบลิวแอล เพราะไทยยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีความเข้มงวดกับการปราบเทปผี ซีดีเถื่อน และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อื่นๆ อย่างจริงจัง ซึ่งในทางปฏิบัติการจะปรับลดสถานนะหรือไม่นั้น ไม่สามารถนำเรื่องที่ไทยทำซีแอลมาเป็นข้อตัดสินได้ อย่างไรก็ตาม การปรับสถานะของไทยในครั้งนี้อาจเป็นข้ออ้างให้มีการนำมาตรการการกีดกั้นทางการค้าเพื่อปกป้องสินค้าของตนเอง เนื่องจากไม่ต้องการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ซึ่งหากไม่ต้องการมาตรการในลักษณะนี้สหรัฐฯคงไม่ทำ
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลเป็นตัวแทนประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องรักษาสถานภาพความเป็นอิสระของประเทศไทย ไม่ใช่ว่าต้องทำตัวให้ดูเป็นผู้ต่ำกว่าให้ประเทศอื่นเอาศักดิ์ศรีของคนในไทยให้ถูกดูหมิ่นดูแคลน เพราะหากทำเช่นนั้นเท่ากับว่าไทยไม่เหลืออะไรเลย อีกทั้งไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะประกาศว่าจะไม่ทำซีแอล เพราะเป็นสิทธิที่เราสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายสากล ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ทำไมจึงต้องไปกังวล
“ไม่เข้าใจว่า พณ.มีอะไรในใจหรือไม่ ถึงบอกในสิ่งที่ไทยทำเรื่องซีแอลว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่ควรทำ หรือผิดกฎหมาย ทำไมถึงคิดเช่นนั้น และให้ความสำคัญกับเรื่องเม็ดเงินมากกว่าชีวิตคน จึงเกิดคำถามที่สงสัยขึ้นมาว่า คนเหล่านี้เขากินเงินเดือนใคร ได้รับเงินเดือนจากใครจากประเทศไทยหรือเปล่า เป็นเรื่องน่าคิดน่าถาม ดังนั้นคนพวกนี้ต้องคิดใหม่ทั้งหมด แต่ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน เพราะจิตสำนึกของคนบางกลุ่มจะกระตุกให้คิดได้นั้น มันเป็นเรื่องยาก”นพ.มงคล กล่าว
นพ.มงคล กล่าวว่า สธ.ในฐานที่เป็นผู้ดูแลประชาชนทั่วประเทศในเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลเจ็บไข้ด้วย จึงจำเป็นต้องคำนึงประชาชนคนไทยมากกว่าสิ่งอื่นใด ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทางการค้า การแลกเปลี่ยนต้องยืนอยู่บนฐานของความเสมอภาค ดังนั้นจึงต้องแยกเรื่องการต่อรองกับสิทธิตามกฎหมายของเราด้วย ดังนั้น อะไรที่กระทบต่อการส่งเสริมสุขภาพ การดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในประเทศก็ควรออกมาปกป้อง
“ส่วนตัวไม่กล้าแนะนำการแสดงท่าทีของรมว.สาธารณสุขว่าควรจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เพราะเชื่อว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข มีวิธีการในการแสดงท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะแสดงออกเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างไรมากกว่า” นพ.มงคล กล่าว
นพ.มงคล กล่าวว่า หากไม่ใช้ซีแอลที่ถือว่าเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายนี้ แล้วทำให้ประเทศชาติเกิดการเสียเปรียบก็ไม่ควรทำ ไม่จำเป็นที่จะเอาผลประโยชน์ของประชาชนไปแลกเปลี่ยนกับของสิ่งหนึ่ง ที่อาจคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่หลวง แต่แท้จริงแล้วคุณค่าชีวิตของคนในประเทศไทยต่างหากเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า เราสามารถยืนบนศักดิ์ศรีของเราได้ โดยไม่ให้ใครมาดูถูกเหยียบย่ำเรา เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย