xs
xsm
sm
md
lg

นักท่องเที่ยวเห็นด้วยห้ามขายเหล้าสงกรานต์ กว่า 90% ยันมาเที่ยวไม่ได้มาดื่ม!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
ผลโพลระบุนักท่องเที่ยว 66% เห็นด้วยไทยใช้มาตรการห้ามขายเหล้าช่วงเทศกาล กว่า 90% ยืนยันมาเที่ยวไทย เพราะแรงจูงใจมาเที่ยวไม่เกี่ยวอยากดื่ม ด้านเลขา สพฉ.ชี้ ควรคุมห้ามขายเหล้า-เบียร์ วันเดินทางไป-กลับภูมิลำเนา เพราะเกิดอุบัติเหตุมากสุด

วานนี้ (3 มี.ค.) นายชนินทร์ จันทรส นักศึกษาชั้นปี ที่ 4 มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า กลุ่มนักศึกษาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ รู้ทันแอลกอฮอล์ และมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำรวจทัศนคตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 28 ประเทศ จำนวน 317 คน อายุระหว่าง 20-40 ปี อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฯลฯ ในพื้นที่ย่านท่องเที่ยว เช่น สีลม ถนนข้าวสาร ประตูน้ำ เซ็นทรัลเวิลด์ วัดพระแก้ว สนามหลวง ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2552 เรื่อง มาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า นักท่องเที่ยวเกินครึ่ง หรือร้อยละ 58.04 ไม่รู้จักประเพณีสงกรานต์ และรู้จักสงกรานต์ ร้อยละ 41.95 ในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวที่เคยมาอยู่เมืองไทยช่วงสงกรานต์ร้อยละ 29.02

นายชนินทร์ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวร้อยละ 66.88 เห็นด้วยในการใช้มาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาล และไม่เห็นด้วยเพียงร้อยละ 33.12 โดยนักท่องเที่ยวร้อยละ 84.54 มองว่า การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และคิดว่า จะส่งผลกระทบร้อยละ 15.45 เนื่องจากเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยใช้มาตรการดังกล่าวช่วงเทศกาล นักท่องเที่ยว ร้อยละ 94.63 ยังยืนยันว่า จะมาเที่ยวเมืองไทย ขณะที่มีเพียงร้อยละ 5.36 ตอบว่า ไม่มา ซึ่งในจำนวนนี้ไม่รู้จักเทศกาลสงกรานต์

“ไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดเลยที่ตอบว่าแรงจูงใจในการมาเที่ยวเมืองไทย คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่แรงจูงใจส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวเมืองไทย เป็นเพราะอยากชมโบราณสถาน วัดวาอาราม สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรม และนักท่องเที่ยว ทราบว่า การดื่มมีผลกระทบต่อปัญหาต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ ปัญหาค่าใช้จ่ายและปัญหาครอบครัว” นายชนินทร์ กล่าว

ด้านนพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายที่จะห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลโดยเริ่มจากเทศกาลสงกรานต์ปีนี้นั้น หากพิจารณาจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านๆ ส่วนตัวเห็นว่า วันที่มีความเหมาะสมที่จะห้ามขายมากที่สุด ได้แก่ วันที่ประชาชนต้องเดินทางไปและกลับ เนื่องจากเป็นวันที่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เนื่องจากมีการใช้รถใช้ถนนมากโอกาสการเกิดอุบัติเหตุก็จะสูงตามไปด้วย ยิ่งหากเมาแล้วขับโอกาสก็สูงเป็นเท่าตัว ซึ่งในรายงานการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า 70% เกิดกับรถมอเตอร์ไซค์ แต่หากเป็นช่วงเทศกาลรถมอเตอร์ไซค์จะเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นมากกว่า 70%

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2551 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งสิ้น 32,327 คน โดยมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดในวันที่ 12 เมษายน จำนวน 5,376 คน ช่วงเวลาที่เกิดมากสุด คือ ช่วงเวลา 15.00 -19.00 น.จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ รองลงมาเป็น นครราชสีมา และ เชียงใหม่ ส่วนในช่วงเทศกาลปีใหม่หากจะมีการห้ามขายควรดำเนินการในวันที่มีการเดินทางไปและกลับเช่นกัน โดยช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2552 ซึ่งมีการเก็บสถิติระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2551 – 5 มกราคม 2552 จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งสิ้น 27,269 คน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,892 คน

ขณะที่ น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จำเป็นที่ต้องมีการควบคุมขอบเขตของการจำหน่ายแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะเป็นประเพณีไทยที่คนนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนามากกว่าช่วงวันหยุดอื่นๆ การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งช่วงของเทศกาล เชื่อว่า อาจทำได้ยาก แต่ในช่วงวันที่มีการเดินทางไปและกลับ จำเป็นต้องควบคุมอย่างเข้มงวด รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น ควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มให้แก่เด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ตามกฎหมาย การห้ามดื่มในสถานที่ที่กฎหมายกำหนด เช่น วัด สถานศึกษา เชื่อว่า การใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจะช่วยให้ลดอุบัติเหตุ รวมทั้งความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศลงได้

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สนับสนุน ใครก็ตามที่คิดให้เกิดการลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาดีๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง ฯลฯ จึงอยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ดีว่า ในแต่ละปีไม่ใช่เพียงแค่ยอดผู้เสียชีวิตในแต่ละเทศกาลมีเพียง 600-700 คนเท่านั้น แต่ยังมีผู้บาดเจ็บอีกมากมายในแต่ละปี แต่กลับมีผู้ที่ได้ประโยชน์รวยจากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงคนไม่กี่คนเท่านั้น จึงอยากให้เปรียบเทียบส่วนได้กับส่วนเสียให้ดี

นพ.มงคล กล่าวว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคประชาชนทั้งหลายก็ต่างไปรณรงค์กันผิดจุด มีการนวดประคบ ให้ผ้าเย็น แจกน้ำข้างถนน แต่มันเป็นปัจจัยเล็กๆ ทั้งที่ปัจจัยหลัก คือ เรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะแจกน้ำเย็น แจกผ้าเย็นให้เช็ดอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น เพราะคนขับดื่มเหล้าจนตัวร้อนผ่าว ทำอย่างไรก็ไม่ช่วย ดังนั้น จึงต้องไปแก้ที่ต้นเหตุคุมเรื่องการดื่มน้ำเมาจะตรงจุดกว่า

“ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่คนกลับบ้านไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ อยากให้เขาได้ไปอย่างมีสติ ไปอย่างสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ลดละเลิกน้ำเมาในช่วงนั้น เพื่อนำสิ่งดีงามเป็นกุศลก่อเกิดในช่วงเวลาที่ดี สังคมจะได้มีแต่ความเป็นกุศลและเมตตาก็เป็นเรื่องที่ดีมาก และเชื่อว่า การออกกฎหมายลูกจะง่ายกว่าการออกกฎหมายแม่ที่ผ่านมาแล้ว” นพ.มงคล กล่าว

ทั้งนี้ ในวันที่ 4 มีนาคมนี้ เวลา 09.30 น.ที่ห้องประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมรับฟังความเห็นจากภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน ธุรกิจการท่องเที่ยว เกี่ยวกับมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น