xs
xsm
sm
md
lg

วธ.เอาจริง! ให้ 7 วันจัดร้าน ผุด 5 มาตรการคุมแผงหนังสือหวิวโชว์เต้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
วธ.งัด 5 มาตรการจัดระเบียบแผงหนังสือหวิวโชว์เต้า ร่อนหนังสือถึงเอกชนขอความร่วมมือ “ธีระ” ลั่นกวดขันเข้มข้นให้เวลาปรับปรุงชั้นหนังสือ 7 วัน พร้อมสั่งกรมศิลป์ เตรียมทำประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.จัดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ทบทวนการใช้ประโยชน์

วันนี้ (26 ก.พ.) นายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม กล่าวภายหลังการประชุมหามาตรการป้องกัน และแก้ไขการเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่เหมาะสม ว่า จากการที่เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เครือข่ายผู้ปกครองออนไลน์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อตนเพื่อขอให้มีการควบคุมการเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่เหมาะสม และการจัดระดับสื่อสิ่งพิมพ์ หรือ เรตติ้ง เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น

วธ.จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศิลปากร กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในการพิจารณาการเผยแพร่สื่อที่ไม่เหมาะสม
โดยที่ประชุมเห็นว่า เนื่องจาก วธ.ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา1ชุดเพื่อทำหน้าที่จัดระดับความเหมาะสมของสื่อสิ่งพิมพ์ มาตั้งแต่ ปี 2551 แต่พบว่ามีอุปสรรคของการทำงานในด้านคำจำกัดความของ คำว่า ลามกอนาจาร ซึ่งได้ให้คำนิยามยาก ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เข้ามาร่วมทำการวิจัยเนื้อหาของการจัดเรตติ้งของสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งคาดว่าสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 2552 นี้

นายธีระ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้มีมติถึงแนวทางการแก้ไขการเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่เหมาะสม อย่างเร่งด่วน 5 มาตรการ ดังนี้ 1.ขอความร่วมมือไปยังร้านจำหน่ายหนังสือ และแผงหนังสือเพื่อจัดระเบียบพื้นที่วางจำหน่ายให้เหมาะสม ให้กับหนังสือแต่ละประเภท จำแนกตามกลุ่มอายุและเพศผู้อ่าน โดยขอให้นำหนังสือที่มีภาพไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนไว้ให้อยู่สูงกว่าระดับสายตาเด็ก โดยจะให้เวลาในการปรับปรุงมุมหนังสือ 1 สัปดาห์

2.วธ.จะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้บัญชาการ สตช.เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 และกฎหมายด้านการปกครอง ที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม และวัฒนธรรม รวมทั้งแจ้งไปยังนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือ ในการตรวจสอบเนื้อหา และภาพของหนังสือที่ออกมาก่อนเผยแพร่ นอกจากนี้จะแจ้งให้ผู้จัดจำหน่าย และองค์กรภาคเอกชน ที่มีร้านสะดวกซื้อจำหน่ายหนังสือ ด้วย

3.มอบหมายให้คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยออกไปสุ่มตรวจตามแผงหนังสือว่าผู้ประกอบการมีการให้ความร่วมมือหรือไม่ 4.มอบหมายให้กรมศิลปากร ในฐานะดูแล พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 เปิดประชาพิจารณ์ โดยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีเกี่ยวข้อง กับ พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายได้อย่างกว้างขึ้น และอาจจะมีการออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับการจัดเรตติ้งของสื่อสิ่งพิมพ์ 5.การผลักดันการจัดเรตติ้งสื่อสิ่งพิมพ์ให้ออกมาบังคับใช้ได้โดยเร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น