xs
xsm
sm
md
lg

มสธ.เผย ตร.เมินทำคดีปัญหาครอบครัว ชี้แค่ตักเตือนไม่ช่วยอะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
งานวิจัย มสธ.ชี้ตำรวจเมินปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเห็นเป็นเรื่องส่วนตัวของผัวเมีย ดำเนินการแค่ตักเตือนผู้กระทำผิด ส่งผลเหยื่อเสี่ยงอันตรายมากกว่าเดิม แนะใช้กฎหมายบังคับเพื่อลงโทษ อบรม เปลี่ยนนิสัยผู้ชายชอบทำร้ายผู้หญิง เตรียมส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงการทำงาน

วันนี้ (26 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รศ.บุญเสริม หุตะแพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “ทัศนคติและบทบาทของทีมสหวิชาชีพต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” กล่าวว่า

จากการศึกษาทีมสหวิชาชีพ ที่ประกอบด้วยกลุ่มแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กลุ่มตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ กลุ่มนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้นำชุมชนและกลุ่มครู พนักงานปกครอง สื่อ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยวิจัยเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถามในกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 796 คน และวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกในกลุ่มตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวน ทั้งหญิง และชาย ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 18 คน ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวทั้งผู้ใหญ่และเด็ก 15 คน และ ทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาล 15 คน ระหว่างเดือนมิถุนายน 2551 - เมษายน 2552

พบว่า ทีมสหวิชาชีพบางกลุ่มยังไม่เข้าใจปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยยังเห็นว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้หญิงเป็นต้นเหตุของปัญหา การเอาผิดกับผู้ชายที่ล่วงละเมิดทางเพศจะทำให้ครอบครัวของผู้ถูกกระทำเดือดร้อน นอกจากนี้ บทบาท กระบวนการและขั้นตอนให้บริการของบุคลากรในศูนย์พึ่งได้ของโรงพยาบาล เป็นที่พึงพอใจของผู้ถูกกระทำที่ไปใช้บริการ โดยนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาให้คำแนะนำถึงการใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ทำให้ผู้รับบริการเห็นว่าเป็นที่พึ่งได้จริง แต่ผู้ถูกกระทำมีความเห็นว่าตำรวจยังไม่ได้ช่วยเหลืออย่างทันที ไม่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกระทำ มีทัศนคติเชิงลบต่อปัญหา และพนักงานสอบสวน ยังไม่นำพ.ร.บ.ฉบับนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน

พนักงานสอบสวนบางท่านมีการใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 โดยดำเนินการเรียกผู้กระทำมาตักเตือน และห้ามผู้ชายไม่ให้ทำร้ายผู้หญิงอีก แต่ผู้ถูกกระทำ มีความเห็นว่าวิธีที่พนักงานสอบสวนใช้จัดการปัญหาความรุนแรง เป็นผลจาก การมีทัศนคติไม่ถูกต้อง ต่อปัญหา ยังคงเห็นว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างสามีภรรยา ผู้ถูกกระทำจึงต้องการให้มีการใช้กฎหมายบังคับเพื่อลงโทษ หรืออบรมเปลี่ยนนิสัยผู้ชายที่ทำร้ายผู้หญิง เพราะคิดว่าการไกล่เกลี่ยไม่ช่วยให้ปัญหายุติแต่จะยิ่งทำให้ผู้ถูกกระทำไม่ปลอดภัย” รศ.บุญเสริมกล่าว

รศ.บุญเสริม กล่าวอีกว่า ยังพบด้วยว่าระบบการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรง ในครอบครัวยังไม่คล่องตัว ขาดการเชื่อมโยงสู่ระดับท้องถิ่น เนื่องจากแกนนำยังขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดทักษะการให้ความช่วยเหลือ ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย และบางแห่งยังไม่สนใจปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่า พ.ร.บ.มีประโยชน์ ใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายได้ ช่วยให้ผู้ถูกกระทำได้รับความยุติธรรม ทำให้คดีครอบครัวสามารถยอมความกันได้ และช่วยรักษาสภาพครอบครัวไว้ แต่การใช้ พ.ร.บ. ยังมีจุดบกพร่องเพราะการใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้และผู้ปฏิบัติงานยังขาดการทำความเข้าใจข้อกฎหมายและการนำไปใช้

รศ.บุญเสริม กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ่อย การทำงานไม่ต่อเนื่อง ขาดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ ระบบการบริการแบบ จุดเดียวเบ็ดเสร็จยังมีปัญหา มีข้อจำกัดเรื่องการเบิกจ่ายค่าบริการช่วยเหลือ หลักการและแนวปฏิบัติของบางหน่วยงานยังไม่ชัดเจน และมีข้อจำกัดด้านบุคลากร คือ การผู้ปฏิบัติงานมีความเสี่ยงอันตราย มีบุคลากรไม่เพียงพอ ขาดบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะ บุคลากรยังขาดทักษะการทำงาน ทีมสหวิชาชีพขาดการบูรณาการ ยังต่างคนต่างทำ ขาดการสนับสนุนทรัพยากรที่ชัดเจน และหน่วยงานบางแห่งยังขาดความพร้อมในการบริการ ส่วนปัจจัยที่จะสนับสนุนความสำเร็จในการทำงานของกลุ่มสหวิชาชีพ ได้แก่ บุคลากรมีทัศนคติเชิงบวกต่อการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ เข้าใจปัญหา รู้บทบาทหน้าที่ของตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี มีการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร เช่น การกำหนดนโยบาย สนับสนุนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และให้การสนับสนุนทรัพยากร

“ทีมผู้วิจัยเห็นว่าควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงที่จะบูรณาการการทำงานของทีมสหวิชาชีพ อีกทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รณรงค์การยุติความรุนแรงในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง และควรเน้นทำงานเชิงป้องกันโดยผสมผสานการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีการกำหนดโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน กำหนดบทบาทว่าใครทำอะไรบ้าง และควรเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน ที่สำคัญมีการขยายเครือข่ายสู่ชุมชนท้องถิ่นให้ช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ซึ่งผลการวิจัยและข้อเสนอแนะต่างๆ จะนำเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการปรับการทำงาน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของทีมสหวิชาชีพ” รศ.บุญเสริมกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น