xs
xsm
sm
md
lg

อย.ชี้ นม ร.ร.“นำศรีชล” ได้ “จีเอ็มพี” ส่วนเป็นโรงงานเถื่อนขึ้นอยู่กับ ก.อุตฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิทยา” สั่ง อย.ตรวจสอบนมโรงเรียนเน่า แจงบริษัท นำศรีชล ผลิตนมโรงเรียนได้จีเอ็มพี แต่เป็นโรงงานเถื่อน ถือเป็นคนละส่วนกัน พร้อมตรวจสอบกระบวนการผลิต ด้านเลขา อย.เชื่อ นมเสียที่โคราช เพราะนำนมออกมาวางไว้ในอุณหภูมิภายนอกนานเกินไป แจง 3 สาเหตุของนมเสีย เกิดได้ทั้งจากการคัดเลือกนม กระบวนการผลิต และระยะเวลาในการดื่ม ยัน อย.ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่กระบวนเฝ้าระวังมีช่องโหว่ ดึงทุกส่วนของสังคม มีส่วนร่วมระวังนมโรงเรียน

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหานมเน่าที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า ได้มอบหมายให้ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบโรงงานที่ผลิตนมและมาตรฐานนมโรงเรียนทั้ง 68 แห่งแล้ว และหากโรงเรียนใดไม่มั่นใจในมาตรฐานนมสามารถนำมาให้ทาง อย.ตรวจสอบได้ เนื่องจากกระบวนการผลิตนมต้องทำแบบวันต่อวัน ส่วนกรณีโรงงานนำศรีชล ผู้ผลิตนมโรงเรียน ในจังหวัดชุมพร ผลการตรวจสอบไม่มีการขออนุญาต ตั้งโรงงานตาม พ.ร.บ.โรงงาน แต่กลับได้มาตรฐาน จีเอ็มพี ของ อย.เรื่องนี้ถือว่าคนละส่วนกัน เนื่องจากเรื่องการขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน เป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ดูเรื่องขอกระบวนการผลิต

นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับปัญหานมโรงเรียนที่มีการเน่าเสียรายวัน ต้องชี้แจงว่า เกิดได้ 3 ขั้นตอน คือ 1.เริ่มจากกระบวนการคัดเลือกคุณภาพของนม เพื่อมาสู่กระบวนการผลิต 2.กระบวนการผลิตว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่ 3.ระยะเวลาการดื่มว่าถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ เพราะหากมีกระบวนการผลิตที่ดี คุณภาพนมดี แต่นำนมออกมาไว้ในอุณหภูมิภายนอกที่ร้อนเกินว่ามาตรฐานกำหนด ก็สามารถเน่าเสียได้ โดยปกติการเก็บนมโรงเรียนที่เป็นนมพาสเจอร์ไรซ์นั้น ควรเก็บที่ 8 องศาสเซลเซียส และมีอายุในการดื่มเพียง 3-4 วัน การเก็บรักษาต้องมีถังแช่ที่ไม่มีการปนเปื้อนกับอาหารอื่นๆ ส่วนนมโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมานั้น เบื้องต้นทราบว่ามีการทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง และด้วยสภาพอุณหภูมิที่ร้อนมากจึงมีโอกาสเน่าเสียได้ อย่างไรก็ตามจะได้มีการตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

“ขณะนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ คิดว่า นมเสีย มาจากกระบวนการผลิตเป็นหลัก แต่ต้องดูด้วยว่านมมีต้อนทางตั้งแต่การผลิต คุณภาพนม กระบวนการผลิตเป็นนม และกระบวนนำนมมาให้เด็กดื่ม ซึ่งทางโรงเรียนต้องให้ความรู้ในการดื่มนมแก่เด็กด้วย และให้ดื่มในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นสำคัญไม่ควรมองข้าม เพราะหากนำนมที่ทิ้งไว้นานแล้วมาดื่มก็อาจเน่าเสียได้ และไม่ได้รับประโยชน์”นพ.พิพัฒน์ กล่าว

นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า อย.ไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะที่กำกับดูแลในเรื่องคุณภาพอาหารเมื่อเกิดกรณีนมไม่ได้มาตรฐานหรือมีการปนเปื้อน ซึ่งที่ผ่านมายืนยันว่า นอกจาก อย.ตรวจโรงงานเป็นประจำ ยังมีการสุ่มตรวจนมโรงเรียนเป็นระยะๆ อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันกระบวนการตรวจสอบเฝ้าระวังถือว่ายังมีช่องโหว่ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ซื้อ ควรมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะเรื่องนมโรงเรียนควรจะมีการตั้งหน่วยตรวจสอบขึ้นมาโดยเฉพาะ เพราะนมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็เป็นส่วนสำคัญในการมีส่วนร่วมเฝ้าระวังด้วย

“โรงงานที่ผลิตนมไม่ได้ผลิตครั้งเดียวแล้วเลิกแต่ผลิตทุกวัน อย.คงไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลเป็นรายวันได้ อย่างโรงงาน 68 แห่ง ที่มีการผลิตนมโรงเรียน ก็เชื่อว่า น่าจะมีบางแห่งที่ไม่ได้มาตรฐานแต่คงต้องรอผลตรวจวิเคราะห์อย่างเป็นทางการ ซึ่งโดยหลักการสากลแล้ว ผู้ผลิตจะต้องมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตนด้วย เพราะแม้ว่าโรงงานผู้ผลิตจะได้ใบอนุญาตตำรับอาหารจากอย.หรือได้จีเอ็มพี แต่หากไม่ใส่ใจนำไปปฏิบัติหรือละเลยก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยได้”นพ.พิพัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น