นักเรียน ม.6 ตบเท้ายื่นศาลปกครองขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติตัดสิทธินักเรียนสมัครเข้าทดสอบเอเน็ต พร้อมมีคำสั่งให้ผู้ที่ถูกฟ้องคดีให้โอกาสผู้ฟ้องคดีทั้งหมดเข้าทดสอบเอเน็ตได้ ลุ้นศาลนัดไต่สวนฉุกเฉินบ่ายนี้
เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.วันนี้ ( 24 ก.พ.) ที่ศาลปกครองกลาง พ่อแม่ ผู้ปกครอง และนักเรียน ประมาณ 30 คน เดินทางเข้ายื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาเพิกถอนมติของคณะกรรมการอำนวยการการคัดเลือกรับบุคคลเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษา โดยมี ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นประธาน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐทั้ง 21 แห่ง เป็นกรรมการ ที่พิจารณาให้นักเรียนที่ร้องขอชำระค่าสมัคร และสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต จำนวน 532 ราย โดยคณะกรรมการอำนวยการฯ คืนสิทธิ์ให้นักเรียนที่ยื่นคำร้องเพียง 2 ราย เฉพาะกรณีที่มีปัญหาบาร์โค้ดและสามารถตรวจสอบได้เท่านั้น ทั้งนี้ นักเรียนกลุ่มดังกล่าวขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน และคุ้มครองชั่วคราวภายในบ่ายวันนี้ เพื่อให้นักเรียนกลุ่มนี้ ได้สอบเอเน็ตทันในวันที่ 28 ก.พ.และ 1 มี.ค.นี้
นายพิสิฐ กิตติเจริญฤกษ์ ประธานเครือข่ายเด็กนักเรียน และผู้ปกครองเพื่อความยุติธรรม กล่าวว่า การฟ้องร้องต่อศาลปกครองครั้งนี้ เพื่อขออำนาจศาลยกเลิกมติของคณะกรรมการอำนวยการฯ ให้นักเรียนจำนวนหนึ่งได้ชำระค่าสมัครเอเน็ต และสอบเอเน็ต เพราะตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา นักเรียนทุกข์ใจกับการไม่ได้เข้าสอบเอเน็ต เพียงเพราะชำระค่าสมัครเอเน็ตไม่ทันเท่านั้น อีกทั้งนักเรียนทุกคนที่มาฟ้องร้อง ต่างเป็นนักเรียนที่ต้องการสอบเอเน็ต และต่างตั้งใจสมัครสอบ แต่มีเหตุสุดวิสัย ทำให้ชำระค่าสมัครสอบเอเน็ตในวันที่กำหนดไม่ได้ ซึ่งการฟ้องศาลฯ ของกลุ่มเครือข่ายฯ ไม่ได้ต้องการหาคนผิด แต่ต้องการรักษาสิทธิ์ในการเข้าสอบเอเน็ตของนักเรียนที่มีความตั้งใจจริง โดยได้นำเอกสารอ้างอิงตามกฎหมาย และหลักฐานที่ได้จากนักเรียน 15 ชิ้น และคำฟ้องร้องอีก 15 หน้า ให้ศาลฯ ช่วยพินิจไต่สวนฉุนเฉิน และคุ้มครองชั่วคราว ให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้สอบเอเน็ตในวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งมั่นใจว่าหลักฐาน และเอกสารอ้างอิง จะช่วยนักเรียนกลุ่มนี้ ได้เข้าสอบเอเน็ตทันเวลาแน่นอน
ประธานเครือข่ายฯ กล่าวอีกว่า อยากให้สังคม หน่วยงานที่รับผิดชอบย้อนกลับมามองว่าตอนนี้สังคมไทย เกิดอะไรขึ้น แค่เด็กไม่ได้ชำระเงินค่าสมัครสอบ กลายเป็นถูกตัดสิทธิ์สอบ ทำให้เด็กไม่ได้ทำตามความฝัน ไม่ได้สิ่งที่พวกเขามุ่งมั่นตั้งใจไว้ และขอให้นึกถึงโอกาสทางการศึกษาดังที่ นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่าโอกาสทางการศึกษาของเด็กมีความสำคัญมากที่สุด
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องของนักเรียนแล้ว และขณะนี้กลุ่มนักเรียน และเครือข่ายผู้ปกครองเพื่อความยุติธรรม กำลังรอฟังว่าศาลจะนัดไต่สวนฉุกเฉินในวันนี้หรือไม่
ดร.สุเมธ กล่าวว่า การฟ้องร้องของกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง และนักเรียน ถือเป็นสิทธิ ที่สามารถกระทำได้ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หากได้รับมอบหมายจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ แถลงการณ์เรียกร้องให้ทบทวนการเยียวยาเด็กใหม่ โดยให้ดำเนินการไปชี้แจ้งต่อศาลฯ เมื่อใด สกอ.ก็พร้อมที่จะไปชี้แจง เพราะขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ สกอ.เตรียมหลักฐาน และเอกสาร ชี้แจงเหตุผลไว้เรียบร้อย แล้ว ซึ่ง สกอ.ก็พร้อมยอมรับคำตัดสินของศาล