วธ.ระดมผู้แทน 4 จว.ถกปัญหาชาติพันธุ์ชาวเล นักวิชาการชี้หลังสึนามิ ชาวเลกว่าหมื่น มีปัญหาไร้สัญชาติ ที่ดินทำกิน ขณะที่ สนง.วธ.กระบี่ แฉ มีกลุ่มคนนำทีวี เสื้อผ้าสมัยใหม่ ล่อชาวเลให้เปลี่ยนศาสนา และจูงวิถีชีวิตชาวเลเข้าสู่ลัทธิบริโภคนิยม
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังการประชุม คณะกรรมการบูรณาการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ครั้งที่ 1 ว่า วธ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เพื่อทำหน้าที่วางแผนและกำหนดนโยบายในการดำเนินงาน ช่วยแก้ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ ในเบื้องต้น ตนเห็นว่า ต้องตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และดึงงบประมาณจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) มาช่วยในการบริหารจัดการ โดยต้องหารือร่วมกับผู้แทนของชาวเล เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการออกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ชุมชนชาวเลซึ่งตนมองว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยที่มีมาอย่างยาวนานได้
“ที่ประชุมได้มีมติที่จะแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูชีวิตชาวเลในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต พังงา และระนอง โดยมีปัญหา 5 ข้อที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ได้แก่ 1.ปัญหาเรื่องที่ทำกินและที่อยู่อาศัย 2.ให้การศึกษากับชาวเลรวมทั้งการจัดทำหลักสูตรการศึกษาท้องถิ่น 3.ฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรรมดั้งเดิมรวมทั้งพัฒนาท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง 4.ส่งเสริมสุขภาพและบริการสาธารณสุข และ 5.จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นในชุมชนนั้นๆ” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
ดร.นฤมล อรุโนทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มชาวเล 3 กลุ่ม คือ มอแกน จำนวน 800 คน มอแกลน จำนวน 3,000 คน และ อุรักลาโว้ย จำนวน 6,000 คน ประชากรรวมกันประมาณ 10,000 คน โดยในแต่ละกลุ่มมีภาษาแตกต่างกัน มีพื้นที่ทำมาหากินไล่ตั้งแต่ป่าบนเขา ป่าชายหาด และทะเล มีพิธีกรรมที่ผูกพันกับทะเล อาทิ การแสดงรองเง็ง เป็นต้น
ดร.นฤมล กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูชาวเลหลังจากเข้าไปศึกษาวิถีชีวิต ได้แก่ ที่อยู่อาศัย เนื่องจากชาวเลไม่มีเอกสิทธิ์ในที่ดิน ความไร้สัญชาติ หลังเหตุการณ์สึนามิพบว่าประชาชนบางส่วนที่มีบัตรประชาชนแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ยังเป็นบุคคลไร้รัฐ ขณะเดียวกันชาวเล ได้ละเลยขนบธรรมเนียมดั้งเดิม เนื่องจากมีกลุ่มนายทุนเข้ามาส่งเสริมอาชีพแบบผิดๆ ให้กลุ่มชาวเล ยังผลให้วิถีชีวิตและประเพณีบางอย่างหายไป
นางเกสร กำเหนิดเพชร์ ผอ.กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า การกระจายตัวของชาวเลในจ.กระบี่มีสภาพปัญหาเดียวกับพื้นที่อื่นๆ คือการถือครองที่ดิน แต่สำหรับเรื่องที่ตนมองว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาขณะนี้ คือ ความแตกแยกระหว่างชาวเล 2 รุ่น คือ รุ่นเก่าซึ่งแต่เดิมนับถือศาสนาพุทธและอิสลาม และคนรุ่นใหม่ที่ต้องการออกมาสู่วัฒนธรรมสมัยใหม่อันเป็นผลพวงมาจากการเผยแพร่ศาสนาคริสต์โดยให้เครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน อาทิ โทรทัศน์ เสื้อผ้า และอุปกรณ์ที่ทันสมัยเข้าไปแลกเปลี่ยนกับการสร้างโบสถ์และการเปลี่ยนศาสนา ปัญหาดังกล่าวจึงทำให้วิถีชีวิตของชาวเลดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป