xs
xsm
sm
md
lg

“ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” สัญลักษณ์ความจงรักภักดีในยุคฝรั่งล่าอาณานิคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ใครที่เคยเห็นหรือเคยไปเยี่ยมชม “โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” คงจะประทับใจในความงามของ “อาคารเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หลายคนคงอาจยังไม่ทราบว่า อาคารเก่าแก่แห่งนี้มีประวัติ และความเป็นมาอย่างไร และถ้าหากบอกว่ามีความเกี่ยวพันกับยุคตะวันตกล่าอาณานิคม ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถดำรงความเป็นไทมาจนถึงทุกวันนี้ โดยไม่ต้องตกเป็นข้าต่างด้าวชาวต่างแดน คงจะทำให้ยิ่งเพิ่มพูนความรักและความหวงแหนให้มากขึ้นไปอีก

ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการปราจีนบุรี อธิบายว่า ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีความสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นตัวเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ดำรงตำแหน่งเสมือนผู้ว่าการเมือง เนื่องจากปี พ.ศ.2367 ต้นตระกูลเจ้าพระยาได้ปกครองหัวเมืองต่างๆ ที่ประกอบไปด้วย พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ พนมศก จนกระทั่งปี พ.ศ.2449 เกิดการล่าอาณานิคมขึ้น ประเทศฝรั่งเศส ส่งเรือรบเข้ามาปิดน่านน้ำไทย ทำให้เกิดการผันแปรทางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ของฝรั่งเศส ไทยต้องยอมเสียดินแดนในส่วนนี้ไปเพื่อแลกกับการจังหวัดตราด

ภายหลังจากการแลกเปลี่ยนแผ่นดิน ประเทศฝรั่งเศส ขอให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศรมาปกครองมณฑลบูรพาต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดฯ ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เข้าเฝ้าฯ และมีรับสั่งให้ไปเป็นเจ้าเมืองบูรพาตามที่ฝรั่งเศสร้องขอมา แต่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรไม่ยอมกลับไป เนื่องจากต้นตระกูลรวมทั้งปู่ และบิดา ได้เป็นข้าละอองธุลีพระบาทในล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 มาหลายชั่วอายุคน จึงไม่ปรารถนาจะย้ายไปเป็นข้ากัมพูชาแต่อย่างใด จึงขอพระบรมราชานุญาตอพยพเข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณในกรุงเทพฯ
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร
“การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์ และรักในแผ่นดินเกิด ต้องการที่จะตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน จึงไม่ยอมไปเป็นข้าต่างแดนของประเทศอื่นใดนอกจากประเทศไทย” ธวัชชัย ระบุ

ส่วนที่สองคือ ความสำคัญของตัวตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติต่อคนจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลบูรพา และประทับแรมที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้สร้างที่พักแรมชั่วคราว แต่ด้วยความจงรักภักดีของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเห็นว่า ที่พักแรมนั้นไม่สมพระเกียรติ จึงได้รวบรวมข้าราชการ และประชาชนสร้างที่พักแรม เพื่อไว้เป็นประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ระดับสูง โดยผู้ที่สร้างเป็นคนคนเดียวคนที่สร้างตึกที่พระตะบอง

ทว่า ไม่ทันได้มาประทับแรม รัชกาลที่ 5 ก็เสด็จสวรรคตก่อน เช่นเดียวกับเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่ไม่เคยได้ใช้แม้แต่ครั้งเดียว
หม้อต้มยาที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์
ผู้ว่าฯ ธวัชชัย ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในยุคต่อมา กระทรวงกลาโหม ได้ใช้อาคารแห่งนี้เพื่อทำเป็นโรงพยาบาลทหาร ไว้ให้บริการกับประชาชนและข้าราชการทหาร โดยมีหอผู้ป่วยหลังแรกคือ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จากนั้นกรมสาธารณสุข (ในขณะนั้น) ได้รับช่วงการบริหารงานและเปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เสร็จแล้วได้ใช้อาคารแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทยในยุคปัจจุบัน

ด้านอธิชา โรจนสุวรรณ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดนครนายก ระบุว่า ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีลักษณะเหมือนกับตึกที่พระตะบอง ณ มณฑลบูรพา แต่เนื่องจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศรตามเสด็จประพาสรัชกาลที่ 5 ไปยังทวีปยุโรปจึงทำให้สถาปัตยกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปูนปั้น หลังคา กระเบื้อง หรือการตกแต่งต่างๆ คล้ายของทวีปยุโรป ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนผสมของความอ่อนช้อยแห่งความเป็นไทยรวมอยู่ด้วย
หม้อต้มยาที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์
ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม และหัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์การแพทย์ไทยอภัยภูเบศร ระบุว่า อาคารเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ไม่ใช่แค่ตัวตึก แต่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในสมัยที่ประเทศตะวันตก มีการล่าอานานิคม ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดจีน รวมไปถึงประวัติศาสตร์ในปลายรัชกาลที่ 5 และแสดงให้เห็นถึงเจ้าพระยาที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และแผ่นดินที่ควรแก่การคาราวะ

ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงได้นำภาพของอาคารเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมาใช้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยในด้านสุขภาพที่ต้องต่อสู้กับยาฝรั่งที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการรักษา ทั้งๆ ที่ตัวสมุนไพรไทยก็สามารถรักษาโรคได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่ไม่ต้องไปเพิ่งยาจากต่างประเทศมาทำการรักษา
เด็กนักเรียนเข้ามาเยี่ยมชม
และปิดท้ายกันที่ความรู้สึกของคนพื้นถิ่นอย่าง “อำไพ ตรีสุวรรณ” ที่เปิดเผยว่า ในฐานะคนปราจีนบุรี มีความภูมิใจในตัวอาคารแห่งนี้เป็นอย่างมาก เพราะตัวอาคารสื่อถึงความภูมิใจแห่งความเป็นชาติไทย และที่สำคัญ คือ คุณยายของตนเองที่ปัจจุบันอายุ 96 ปี ก็มีชีวิตอยู่ในสมัยของเจ้าพระยาอภัยภูเบศรด้วย ทำให้มีความรักและความหวงแหนในตัวอาคารมากขึ้นไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น