วธ.ระดมสมองถกปัญหาพิพิธภัณฑ์ เตรียมฟื้นชีวิตพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น “ธีระ” รับหนุนเต็มที่พร้อมชงข้อสรุปเข้าปีงบประมาณปี 53 ด้านคนพิพิธภัณฑ์เรียกร้องรัฐบาลตั้งเป็นวาระแห่งชาติเสนอดึง มท.-พม. ร่วมพัฒนา
นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังงานเสวนาเรื่อง “เวทีระดมพลัง ระดมความคิด เพื่อชีวิตพิพิธภัณฑ์” ว่า ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในการสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมของไทยเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนนั้น ตนเห็นว่าพิพิธภัณฑ์จึงต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ต้องมีการพัฒนา เนื่องจากปัจจุบันประชาชนทั่วไปไม่ให้ความสนใจในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพราะไม่มีสิ่งดึงดูดใจให้อยากเข้าชม
ขณะเดียวกันในช่วง 15 – 20 ปีหลังนี้ มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวที่จะพัฒนาวัฒนธรรมในท้องถิ่นของคนในชุมชนเพิ่มขึ้น สำหรับในส่วนของ วธ.กำลังจัดตั้งคณะกรรมการด้านพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับงานด้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโดยเฉพาะ โดยผลสรุปการระดมสมองครั้งนี้จะนำมาเป็นกรอบในการพิจารณาดำเนินการเพื่อเสนอของบประมาณสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ในปีงบประมาณ 2553 ต่อไป
นายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์และกิจกรรม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า การส่งเสริมงานพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศนั้น ผู้นำระดับประเทศจะผลักดันแนวความคิดพิพิธภัณฑ์เป็นวาระแห่งชาติโดยมองว่าวัฒนธรรมเป็นรากเหง้าในการสร้างชาติ โดยจะทำการรวบรวมมรดกท้องถิ่นสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ แต่สำหรับประเทศไทยพบว่าชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถเชื่อมโยงเข้าหารัฐบาลโดยตรงได้ ดังนั้นในแนวทางการนำหัวข้อส่งเสริมงานพิพิธภัณฑ์เป็นวาระแห่งชาตินั้น กระทรวงมหาดไทย(มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จะต้องเข้ามามีส่วนในการผลักดันร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เพื่อดำเนินงานพิพิธภัณฑ์อย่างยั่งยืนต่อไปได้
ด้านนายทรงศักดิ์ แก้วมูล ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วัดไหล่หิน จ.ลำปาง กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเข้าไปในชุมชนของรัฐจะไปพร้อมกับโครงสร้างอำนาจรัฐโดยไม่ได้สร้างโครงสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ตนมองว่าการสร้างกรอบการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืนนั้นต้องเน้นที่การสร้างบุคลากรควบคู่กับการจัดการในชุมชน โดยที่ภาครัฐให้การสนับสนุน เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นคงความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแห่งเอาไว้ อย่างไรก็ตามตนมองว่าการเกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีแนวโน้มว่าสูงขึ้นนั้นเป็นสิ่งดี และเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนในแต่ละท้องถิ่นรู้จักแหล่งที่มาของตนเองมากขึ้น