xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าของลูกปัด “สุริยะเทพ” ยันไม่เสียดาย แต่ยังหวังได้คืน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช เจ้าของลูกปัดสุริยะเทพเปิดเผยความเป็นมาและคุณค่าของลูกปัดชิ้นที่ถูกขโมยไปจากงานแสดงที่มิวเซียมสยาม
เจ้าของเชื่อจะได้ “ลูกปัดสุริยะเทพ” กลับคืนมา บอกไม่เสียดายที่ถูกขโมย เพราะยังเหลือภาพถ่ายเก็บไว้ และมีลูกปัดอีกหลายชิ้นที่มีคุณค่าไม่แพ้กัน เผย ได้มาตั้งแต่ลงไปช่วยผู้ประสบภัย “สึนามิ” ด้านเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์คาดคนร้ายพยายามก่อเหตุหลายครั้งแล้ว เพราะตรวจพบเกลียวยึดเลนส์กระจกไม่แน่นสนิท และพร้อมแถลงข่าว 9 มี.ค.นี้

วันนี้ (7 มี.ค.) เมื่อเวลา 18.00 น. นายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์และกิจกรรม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ มิวเซียมสยาม กล่าวว่า หลังเกิดเหตุคนร้ายโจรกรรมลูกปัด “สุริยะเทพ” ก็ได้ปิดอาคารแสดงนิทรรศการเพื่อปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้นโดยมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่ม แต่ระบบรักษาความปลอดภัยที่เคยทำไว้ก็ได้มาตรฐานอยู่แล้ว โดยเมื่อช่วงเช้าก็ได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุร่วมกับตำรวจก็เชื่อว่าคนร้ายที่เคยเข้ามาพยายามขโมยแล้วหลายครั้ง เนื่องจากเกลียวที่ยึดตัวเลนส์กับกระจกที่ครอบอยู่นั้นหลวมมาก อย่างไรก็ตามจะเร่งดำเนินการวางระบบทุกอย่างให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 9 มี.ค.ซึ่งเป็นวันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก่อนจะได้เปิดการแสดงอีกครั้ง

นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการ สุธีรัตนามูลนิธิ เปิดเผยความเป็นมาของลูกปัด “สุริยะเทพ” อายุกว่า 2,000 ปี จาก อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ที่ถูกขโมยไปว่า ส่วนตัวศึกษาเรื่องนี้มานานแล้ว และเมื่อครั้งลงพื้นที่ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามินั้นก็ได้พบเห็นชาวบ้าน ทั้งแขวน และเก็บสะสมลูกปัดไว้ไม่น้อย ซึ่งนอกจากลูกปัดสุริยะเทพ ที่มีความสำคัญแล้ว ยังพบลูกปัดชิ้นอื่นที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น ลูกปัดที่มีอักขระพราหมณ์ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ยุคศตวรรษที่ 4-5 ด้วย เมื่อพบดังนี้ก็รู้สึกว่า มีของเก่าแก่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อยู่ในบ้านเรา ซึ่งควรค่าต่อการเก็บรักษาหากไม่รวบรวมไว้ก็จะหายไปจากประเทศไทย จึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษาผู้ใหญ่หลายท่าน ก่อนจะไปสำรวจ และเก็บรวบรวมมาจากชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านที่มีของเหล่านี้ไว้ในครอบครองก็ยินดีให้มา เพราะเชื่อใจว่าตนไม่ได้นำไปขาย

นายแพทย์บัญชา กล่าวต่อว่า หลังเก็บรวบรวมมาได้จำนวนหนึ่งก็ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ 2 เล่ม คือ A Bead Timeline Voloum1 : Prehistory to 1200 CE โดย Jame W. Lankton และAsia’s Maritime Bead Trade 300 B.C. to present โดย Peter Francis, Jr.ประกอบกับได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายแพทย์เจมส์ แลงค์ตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกปัดโบราณ พบว่า ลูกปัดสุริยะเทพนั้น ไม่เหมือนกับลูกปัดโบราณสมัยอเล็กซานเดรีย หรือตะวันออกกลาง และเชื่อว่า ลูกปัดชนิดนี้มีไม่เกิน 50 เม็ดในโลก และในจำนวนนี้มีอยู่ในประเทศไทย 10 เม็ด

นพ.บัญชา กล่าวอีกว่า นายแพทย์เจมส์ ให้ข้อมูลว่า เมื่อเปรียบเทียบลูกปัดสุริยะเทพ กับลูกปัดเม็ดอื่นๆ ก็พบว่า คล้ายกันทั้งหมด โดยเชื่อว่า ทำมาจากแท่งแก้วให้เป็นลวดลาย ประดับด้วยแก้วสีแดงและเขียว จากนั้นได้ดึงให้ยืดออกเหมือนตอนทำตังเม และตัดขวางออกเป็นชิ้นเล็กๆ แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ ส่วนที่เป็นลายขาวดำนั้นยืนยันกันแล้วว่าเป็นการทำโมเสกแน่นอน นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ น่าจะเป็นศูนย์กลางการผลิต และซื้อขายลูกปัดชนิดนี้ ซึ่งในแวดวงผู้ศึกษาลูกปัดโบราณกำลังจะพบร่องรอยบางอย่างที่อาจจะบ่งชี้ได้ว่าลูกปัดสุริยะเทพนั้น ทำมาจากแก้วชนิดพิเศษที่มีอยู่เฉพาะเอเชียอาคเนย์เพียงแห่งเดียว ตนไม่ได้สนใจเรื่องมูลค่า แต่สนใจเรื่องคุณค่ามากกว่า ที่เสียดายคือ ขาดประจักษ์พยานสำคัญ เนื่องจากในแวดวงวิชาการด้านนี้นั้น มีเครื่องมือที่สามารถตรวจวิเคราะห์ชี้ขาดได้ว่าเนื้อแก้วมีองค์ประกอบอย่างไร และจะบอกได้ว่าแหล่งผลิตอยู่ที่ไหน

“สำหรับการผลิตลูกปัดนั้น พบครั้งแรกสมัยอียิปต์โบราณเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน โดยเชื่อว่า ศูนย์กลางการผลิตอยู่รอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนลูกปัดที่พบในพื้นที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ นั้น เชื่อว่า มีการผลิตขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปี ก่อนโดยมีวิธีการผลิตที่แตกต่างจากที่อื่นโดยมีความเล็กและละเอียดกว่า โดยเชื่อว่า สมัยก่อนนั้นลูกปัดนั้นเป็นสิ่งแสดงสถานะ เป็นเครื่องประดับ จากนั้นได้บรรจุศรัทธา ความเชื่อเพื่อเป็นเครื่องรางของขลัง นอกจากนี้ ยังเคยถูกใช้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนเหมือนเงินหรือทอง ทั้งนี้ นอกจากในพื้นที่ภาคใต้แล้วในภาคอื่นของประเทศก็ยังพบลูกปัดเช่นกันแต่ไม่ได้มีจำนวนมาก หรือสมบูรณ์เท่าที่ภาคใต้ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าลูกปัดสุริยะเทพที่ถูกขโมยไปนั้นเป็นเม็ดที่สวยสมบูรณ์ที่สุด ส่วนที่ถูกขโมยไปนั้นก็ไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไรเพราะยังมีข้อมูลภาพถ่ายอยู่ อีกทั้งยังมีลูกปัดอีกหลายชิ้นที่มีคุณค่าไม่แพ้กัน แต่ทั้งนี้ ก็ยังเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ในใจว่าจะได้กลับคืนมา” นพ.บัญชา กล่าว
บรรยากาศที่บริเวณสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติหรือมิวเซียมสยาม
กำลังโหลดความคิดเห็น