สตง.กัดไม่ปล่อย แจ้ง สตช.ดำเนินคดีปลัด สธ.ข้อหาทำผิดกฎหมายอาญา สังเวยจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉิน 232 คัน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมส่งให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เสนอทางออกส่งปลัด สธ.ช่วยราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้ สอบข้อเท็จจริงสะดวกยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีกับ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินโดยวิธีพิเศษ รวมทั้งคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ ในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งนอกจากทำหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว ยังได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ดำเนินคดีต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินโดยวิธีพิเศษ รวมทั้งคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ทั้งนี้ หนังสือที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ คณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น มีการแนบผลการตรวจสอบสืบสวนกรณีการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง จำนวน 155 หน้าไปด้วย โดยมีการระบุความผิดของ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น ว่า มีการออกคำสั่งยกเลิกการเสนอราคา และให้มีการปรับปรุงรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ (ปรับสเปก) ในวันที่ 25 ต.ค.2548 จากนั้นคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ ได้ดำเนินการปรับข้อมูลบางรายการของอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เสนอต่อ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น ในวันที่ 26 ต.ค.2548 และในวันที่ 27 ต.ค.2548 มีเพียงบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เพียงบริษัทเดียว ยื่นเอกสารและเสนอราคาการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉิน ในราคาคันละ 1,478,847 บาท และคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ได้ต่อรองราคา โดยบริษัทยินดีลดราคาให้เหลือคันละ 1,467,000 บาท ที่คณะกรรมการลงความเห็นว่าสมควรจัดซื้อ เนื่องจากต่ำกว่าราคากลาง ซึ่ง สตง.ชี้มูลความผิดให้เห็นว่า มีความพยายามในการปรับปรุงคุณลักษณะเฉพาะเพื่อให้เอื้อต่อบริษัทที่เข้าประกวดราคาได้เพียงบริษัทเดียว ถือเป็นการไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการปรับลดคุณลักษณะเฉพาะจนถึงลงมติให้มีการจัดซื้อนั้น มีการดำเนินการอย่างรีบร้อนและรวบรัดโดยใช้เวลาเพียงแค่ 3 วัน เท่านั้น
สำหรับการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงพร้อมอุปกรณ์การแพทย์สำหรับติดตั้งประจำตัวรถ จำนวน 232 คัน เป็นเงินทั้งสิ้น 340,344,000 บาท สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำสัญญาซื้อขายกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตามสัญญาเลขที่ 11/2549 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2548 และ สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมเลขที่ 11/2549 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 หลังจากที่มีการประกวดราคาถึง 3 ครั้ง ประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) 5 ครั้ง และ จัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ 1 ครั้ง สรุปการดำเนินการจัดซื้อทั้งสิ้นถึง 9 ครั้ง
ทั้งนี้ นอกจาก สตง.จะมีหนังสือให้ดำเนินคดีอาญาต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดดังกล่าวแล้ว ยังได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีการนำเข้าคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์ 2 ประเภท คือ ท่อบรรจุออกซิเจนขนาดไม่น้อยกว่า 2 ลิตร และชุดปรับความดัน ในกระเป๋าช่วยชีวิตฉุกเฉิน ว่า มีเอกสารรับรองการจัดจำหน่ายและเอกสารหนังสือประกอบการนำเข้าหรือไม่รวมถึงการนำเข้าคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์รายการชุดป้องกันกระดูกคอเคลื่อน มีหนังสือประกอบการนำเข้าหรือไม่ และเป็นอุปกรณ์ที่เป็นของแท้หรือไม่ โดยมีรายละเอียดคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์แต่ละรายการระบุอย่างชัดเจน
แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าว รมว.สาธารณสุข ควรเสนอให้มีการโยกย้ายปลัด สธ.ไปช่วยราชการ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน เพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปได้อย่างสะดวก ยุติธรรม และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เช่นเดียวกับที่เคยมีการโยกย้ายอดีตปลัด สธ.นพ.วิชัย เทียนถาวร ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อผลการสอบสวนปรากฏว่า ปลัดกระทรวงไม่มีความผิดก็สามารถจะออกคำสั่งให้กลับมาดำรงตำแหน่งเดิมได้ เพราะหากปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังมีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา จะทำให้การสอบสวนไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะกรณีที่ให้เลขาธิการ อย.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งๆ ที่ตำแหน่งเลขาธิการ อย.อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของปลัด สธ.เข้าใจว่า เลขาธิการ อย.คงไม่สามารถตั้งกรรมการมาสอบสวนปลัดได้อย่างแน่นอน