xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยา” ตั้ง คกก.สอบจัดซื้อรถพยาบาล 232 คัน สุดมั่นได้ผลสรุปเร็วกว่า สตง.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ.
“วิทยา” เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ชี้ หากผิดจริงจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ยันทุกอย่างทำตามกระบวนการ มั่นใจรู้ผลผิด-ถูกเร็วกว่าที่ สตง.ตรวจสอบ

จากกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้มูลว่า การการซื้อจัดจ้างรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงจำนวน 232 คัน ของกระทรวงสาธารณสุข มูลค่า 464 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เป็นการล็อกสเปก และกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะมีความผิดโดยทุจริต เนื่องจากเอื้อให้บริษัทรถยนต์ได้มีสิทธิร่วมทำสัญญา รวมถึงได้เครื่องมืออุปกรณ์รถพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับหนังสือชี้มูลความผิดการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง 232 คันจาก สตง.แล้ว รายงานเบื้องต้น สตง.มีการตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ทั้ง 232 คัน เนื่องจากมีการตรวจสอบรายการย่อยในรถพยาบาล มีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวน 7 รายการ ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยชี้มูลความผิดคณะกรรมการกำหนดคุณสมบัติรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ที่มี นพ.สุรวิทย์ เตชะธุวานนท์ เป็นประธาน คณะกรรมการจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ที่มี นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ เป็นประธาน และคณะกรรมการตรวจรับรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงที่มี นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เป็นประธาน ว่า มีความบกพร่องเสนอให้ดำเนินการเอาผิดทางวินัย รวมถึงส่อทุจริตจึงควรแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ได้หารือด้วยวาจากับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) แล้วเกี่ยวกับขั้นตอน ว่า ควรจะเริ่มต้นดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่ง ก.พ.แจ้งว่า เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตของ สตง.แล้ว เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องสอบข้อเท็จจริง ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการ และคาดว่า จะได้คำตอบอย่างเป็นทางการจาก ก.พ.ภายใน 2 วันนี้ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เพื่อตรวจสอบทั้งในเรื่องคุณภาพของอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเลย จึงไม่สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้ และอาจต้องอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการชี้มูลความผิดของ สตง.มีความคาบเกี่ยวกับหน่วยงานอื่นนอกจาก สธ.ด้วย โดยเฉพาะสำนักงบประมาณ ซึ่งจะหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีความผิด จึงจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป

“จากที่ลำดับความจาก สตง.ครั้งแรกมีการกำหนดสเปกจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงคันละ 2 ล้านบาท ในสภามีการอภิปรายกันอย่างมากว่ามีการล็อกสเปก ครั้งต่อมาเหลือคันละ 1.7 ล้านบาท และสุดท้ายมีการจัดซื้อในราคาคันละ 1.47 ล้านบาท ซึ่ง สตง.ใช้เวลาในการตรวจสอบเรื่องนี้นานถึง 3-4 ปี จึงได้ชี้มูลความผิด แต่คิดว่าผมคงจะใช้เวลาไม่นานเท่ากับ สตง.น่าจะเร็วกว่านั้น และไม่รู้สึกหนักใจที่จะต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้เลย เพราะผมมาเป็น รมว.สาธารณสุข ในขณะที่เรื่องเกิดขึ้นนานแล้ว แต่หากมีการทำไม่ถูกขั้นตอน ผมอาจถูกเล่นงานทั้งๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย”นายวิทยา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น