“หมอวรงค์” ชี้ สตง.หลงประเด็น ปลัด สธ.ช่วยปลดล็อกสเปกรถพยาบาล จี้ ดูสเปกแรกที่ล็อกดีกว่า เพราะยังไม่ได้จัดซื้อแต่ก็ผิด กม.เหมือนกัน
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก กล่าวว่า ในฐานะที่ติดตามเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้เป็นผู้อภิปรายเรื่องดังกล่าวในสภาตั้งแต่ปี 2548 เห็นว่า ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้มูลว่า การประมูลรถพยาบาลดังกล่าวเป็นการล็อกสเปก และกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ มีความผิดโดยทุจริต ช่วยให้บริษัทรถยนต์ ได้มีสิทธิทำสัญญา และปลัด สธ.ก็มีความผิดเช่นกันในฐานะมีคำสั่งปรับปรุงข้อมูลนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ตรงประเด็น และการปรับปรุงข้อมูลในครั้งดังกล่าว ถือว่าเป็นการปลดล็อกสเปกด้วยซ้ำ เพราะทำให้มีบริษัทหลายแห่งสามารถเข้าร่วมประมูลได้
“ผมไม่ซีเรียสด้วยซ้ำไปว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการล็อกสเปกหรือไม่ แต่รู้สึกว่า สตง.หลงประเด็น เพราะจริงแล้วเป็นการคลายล็อกสเปกด้วยซ้ำ เพราะมีการปลดให้กับบริษัทประกอบเครื่องมือแพทย์ติดตั้งในรถพยาบาล ปลดล็อกบริษัทเครื่องมือแพทย์ และปลดล็อกบริษัทรถยนต์ที่นำมาทำรถพยาบาลด้วยซ้ำ และอยากให้ สตง.กลับไปหาข้อมูลในส่วนของการล็อกสเปกรถพยาบาลในครั้งแรกมากกว่าที่มีความน่าสงสัย จนทำให้ต้องมีการปลดล็อกสเปกถึง 2 ครั้ง จนถึงได้รถพยาบาลในปัจจุบัน อีกทั้งทำให้ประหยัดงบประมาณชาติได้จากคันละ 1.99 ล้านบาท เหลือเพียง 1.467 ล้านบาทเท่านั้น ”นพ.วรงค์ กล่าว
นพ.วรงค์ กล่าวว่า ทั้งนี้ สังคมควรแยกแยะประเด็นเรื่องการตรวจรับรถพยาบาลฉุกเฉิน ว่า ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ ออกจากประเด็นเรื่องกำหนดสเปก เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งนี้ หาก สตง.เห็นว่า ยังมีขาดข้อมูลส่วนใด สามารถขอให้ สธ.เสนอข้อมูลมาเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงอีกได้
“แม้ว่าจะอยู่คนละรัฐบาล แต่ก็ขอชื่นชม นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีต รมว.สธ.ที่ได้มีคำสั่งโยกย้าย นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัด สธ.ในสมัยนั้นที่มีการประมูลรถพยาบาลครั้งแรก และ นพ.สุชัย ยังตั้งคณะกรรมการเพื่อปลดล็อกสเปกรถพยาบาลถึง 2 ครั้ง กว่าที่จะมาจัดซื้อได้ในสมัย นายพินิจ จารุสมบัติ อดีต รมว.สธ.ในปี 2548” นพ.วรงค์ กล่าว
แหล่งข่าวในวงการสาธารณสุขด้านรถพยาบาล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว สตง.หลงประเด็นอย่างมาก เพราะในครั้งแรก สตง.ได้พุ่งเป้าไปที่การตรวจรับรถพยาบาล จนทำให้มีการตรวจคุณภาพกันอย่างมาก ซึ่งหากไม่ได้มาตรฐานก็เป็นความรับผิดชอบของบริษัทที่ชนะการประมูลไปดำเนินการแก้ไข ซึ่งขณะนี้ได้เดินมาถูกประเด็นแล้ว แต่ก็ยังหลงประเด็น ไม่เข้าถึงหัวใจของเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้ล็อคสเปกที่บริษัทรถ แต่เป็นการล็อกที่เครื่องมือแพทย์
“หัวใจของการล็อกสเปกในครั้งแรกคือว่า เป็นการล็อกสเปกเครื่องมือแพทย์ และบริษัทประกอบรถยนต์ เพราะเครื่องมือเป็นเรื่องสำคัญที่รถไม่ว่าบริษัทใด ยี่ห้อใดก็ต้องมาปรับให้เข้าให้ได้กับเครื่องมือ ซึ่งนับว่าล็อคเครื่องมือเป็นเรื่องที่ล็อกยากสุดด้วย”แหล่งข่าวคนเดิม กล่าว