xs
xsm
sm
md
lg

"จุรินทร์" ยัน “เอเน็ต” ต้องทำตามกฎ ไม่อุ้มเด็ก 2 หมื่น สกอ.ลั่นพร้อมถูกฟ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"จุรินทร์" ยันปัญหา "เอเน็ต" ต้องทำตามกฎ เผยหากมีการขยายเวลาสมัคเพื่อให้เด็กที่ตกหล่นอยู่กว่า 2 หมื่นคน จะทำให้กระทบต่อเด็กกลุ่มใหญ่ที่ปฏิบัติตามกฎกติกาอีกกว่า 1.9 แสนคน ชี้ส่วนหนึ่งปัญหาส่วนตัวของนักเรียนที่บางคนสมัครสอบตรงเผื่อไว้หลายแห่ง จึงไม่ชำระเงินค่าสมัครเอเน็ต แต่เมื่อพลาดจากสอบตรงแล้วก็ต้องการมาสอบเอเน็ต ด้านสกอ.ยันพร้อมถูกฟ้อง และพร้อมทำตามคำตัดสินของศาลปกครอง

จากกรณีที่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน กว่า 10 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส. รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กรณีขอให้มีการพิจารณาศึกษา สอบสวนการถูกตัดสิทธิเข้าทำการสอบ A-NET นั้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า แม้ส่วนตัวแล้วจะเห็นใจนักเรียนที่พลาดโอกาส แต่เรื่องนี้คงจะต้องยึดระเบียบกฎเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดไว้ อีกทั้งจากที่ได้เคยมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นตรงกันว่า หากมีการขยายเวลาการสมัครเอเน็ต เพื่อให้เด็กที่ตกหล่นอยู่กว่า 2 หมื่นคน ก็จะทำให้กระทบต่อเด็กกลุ่มใหญ่ที่ปฏิบัติตามกฎกติกาอีกกว่า 1.9 แสนคน ที่สมัครและชำระเงินทันตามเวลาที่กำหนด ซึ่งแต่ละปีก็มีปัญหานี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยในปี 2549 มีนักเรียนที่ไม่ได้ชำระเงินค่าสมัครเอเน็ตจำนวน 5.1 หมื่นคน และในปี 2550 มีจำนวน 2.7 หมื่นคน ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้มาใช้สิทธิ์ได้

อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีก สกอ.คงจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เป็นปัญหาส่วนตัวของนักเรียนด้วย ที่บางคนสมัครสอบตรงเผื่อไว้หลายแห่ง จึงไม่ชำระเงินค่าสมัครเอเน็ต แต่เมื่อพลาดจากสอบตรงแล้วก็ต้องการมาสอบเอเน็ต ในส่วนที่นักเรียนระบุว่าจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั้น ต้องสอบถามกับนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะที่กำกับดูแล สกอ.

ด้านนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวว่า ในขั้นตอนการสมัครเอเน็ตนั้น เมื่อนักเรียนสมัครโดยลงทะเบียนผ่านคอมพิวเตอร์แล้ว จะได้บาร์โค้ดโดยจะต้องปริ๊นจากคอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาชำระเงินที่ทำการไปรษณีย์ หรือธนาคารที่เปิดรับ และเมื่อนักเรียนชำระเงินเรียบร้อยแล้วจะมีหลักฐานรายชื่อมาปรากฏที่ฐานข้อมูลของ สกอ.ทันที กรณีที่นักเรียนอ้างว่าอยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่เข้าถึงคอมพิวเตอร์ อีกทั้งบาร์โค้ดก็ไม่ชัดนั้น การที่บาร์โค้ดจะชัดหรือไม่ชัดนั้นขึ้นอยู่กับเครื่องปริ๊น ไม่ได้เป็นปัญหาที่ระบบคอมพิวเตอร์ อีกทั้งหากนักเรียนมีปัญหาเรื่องบาร์โค้ดนั้นก็ควรโทรศัพท์มาสอบถามที่ สกอ. แต่เท่าที่ตนตรวจสอบก็ไม่พบว่ามีนักเรียนแจ้งเหตุปัญหาดังกล่าว

อีกทั้งการรับสมัครและชำระเงินเอเน็ตก็ปิดรับสมัครไปแล้วตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าทำไมนักเรียนอีกกว่า 1.9 แสนคน ที่สมัครและชำระเงินเรียบร้อยกลับไม่มีปัญหา ในส่วนที่นักเรียนระบุว่าจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวนั้น ตนก็เห็นด้วย หากนักเรียนจะยื่นเรื่องให้พิจารณา เพราะหากเป็นการตัดสินใจของ สกอ.ที่จะเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้สอบเอเน็ตได้ ก็จะกระทบกับนักเรียนอีกกว่า 1.9 แสนคน ซึ่งก็จะฟ้องร้องต่อ สกอ.ได้เช่นกัน แต่หากศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เปิดโอกาสให้นักเรียนกลุ่มนี้ ตนก็ไม่มีปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา กลุ่มรับบุคคลศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สกอ. ยอมรับว่า น.ส.ศุภรัตน์ และบิดาได้เดินทางมาร้องเรียนที่ สกอ. ภายหลังวันที่ 14 ม.ค. ซึ่งเป็นวันชำระเงินวันสุดท้าย ประมาณ 2-3 วัน และเมื่อเข้ามาร้องเรียน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการช่วยเหลือ และสอบถาม พบว่าน.ส.ศุภรัตน์ ไม่ได้ชำระเงินในวันที่กำหนด เนื่องจากชำระเงินผ่านไปรษณีย์ไม่ได้ และทางเจ้าหน้าที่ได้ถามต่อถึงการไปชำระเงินที่ธนาคาร ซึ่งในกรุงเทพ ฯตามห้างสรรพสินค้ามีธนาคารเปิดอยู่หลายแห่ง และปิดประมาณ 20.00-21.00 น. แต่น.ส.ศุภรัตน์ ไม่ได้ชี้แจงอะไร

ส่วนที่ระบุว่าบาร์โค้ดไม่ชัดเนื่องจากระบบขัดข้องนั้น ก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากนักเรียนจะต้องปริ้นท์บาร์โคดออกมา เพื่อนำไปชำระเงินที่ธนาคาร หรือไปรษณีย์ ซึ่งหากไม่ชัดเจนน่าจะเป็นความผิดพลาดของเครื่องปริ๊นมากกว่า ส่วนเรื่องปฎิทิน ที่ไม่มีอยู่ในเว็บไซต์นั้น ทางสกอ.ได้แจกให้เด็กไปพร้อมกับคู่มือในการสมัครสอบเอเน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น