xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ไฟเขียวแยกเขต พท.มัธยม สรุปมี 18 กลุ่ม จว.-สั่งร่าง กม.ใน 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศธ.
ครูมัธยม เฮ! “จุรินทร์” ไฟเขียวแยกเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา โดยให้แบ่งเขตโดยยึดกรอบ 18 กลุ่มจังหวัดตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ให้ สกศ.เร่งร่างแก้กฎหมายภายใน 2 สัปดาห์ ขณะที่ “คุณหญิงกษมา” รับลูกจัดทำรายละเอียดเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาเสนอ รมว.ศธ.ได้สัปดาห์นี้ เผย โรงเรียนมัธยมศึกษาให้ขึ้นกับเขตพื้นที่การมัธยม ส่วนโรงเรียนขยายโอกาสยังอยู่กับ สพท.เหมือนเดิม ด้าน นายก ส.บ.ม.ท.เผยพอใจผลการประชุมที่ออกมา

เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้มีการประชุมสภาการศึกษา เพื่อพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา โดยมีผู้บริหารและครูโรงเรียนมัธยมศึกษา ประมาณ 500 คน มารอรับฟังผลการประชุม โดยมีการนำพวงมาลัยและดอกไม้มาเตรียมมอบให้กับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งเป็นประธานในการประชุม พร้อมคณะกรรมการสภาการศึกษา หลังใช้เวลาในการพิจารณานานร่วม 4 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุม นายจุรินทร์ แถลงว่า
 
ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอการจัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา ตามที่คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการจัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาเสนอ โดยมีมติเห็นชอบให้แยกเขตพื้นที่การศึกษาระหว่างประถมและมัธยม โดยให้ยึดตามกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มที่มีการกำหนดไว้ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปพิจารณากำหนดเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาโดยยึดตามกรอบ 18 เขตเป็นหลัก ส่วนจะมีการแบ่งเขตย่อยกี่เขตให้ สพฐ.พิจารณาตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในทางปฏิบัติและสามารถจัดการมัธยมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ
 
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินการนั้นจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมอบหมายให้สภาการศึกษาไปยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อจะได้ลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป และระหว่างการแก้ไขกฎหมายให้ สพฐ.กำหนดมาตรการระยะสั้นในการแก้ปัญหา โดยที่ไม่ขัดระเบียบและกฎหมายไปก่อน
ด้าน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.จะเร่งจัดทำรายละเอียดเพื่อกำหนดเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาให้เสร็จสิ้นและนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการได้ภายในสัปดาห์หน้า สำหรับมาตรการระยะสั้นจะมี 3 เรื่อง คือ การผลักดันให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล โดยจะมีการเสนอแก้ไขกฎหมายต่อกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องของบุคลากรที่ต้องจัดทำรายละเอียดเสนอต่อคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และด้านวิชาการที่ต้องมีการพัฒนาการเรียนการสอน

“โจทย์ใหญ่ที่ รมว.ศึกษาธิการ ให้ไว้ คือ ต้องสร้างความชัดเจนว่า เมื่อแยกเขตพื้นที่ประถมและมัธยมแล้วจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจะต้องแยกการบริหารงานออกมาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) โดยในส่วนของงานบริหารงานบุคคลจะต้องมีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) แยกออกมาจากสพท. ซึ่งโรงเรียนมัธยมศึกษาจะมาอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาส่วนโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะสังกัด สพท.ตามเดิมเช่นเดียวกับโรงเรียนประถมศึกษา” คุณหญิงกษมา กล่าว

ด้าน นายวิทธยา บริบูรณ์ทรัพย์ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวว่า ตนรู้สึกพอใจผลการประชุมในระดับหนึ่ง เพราะตรงกับข้อเสนอในรูปแบบที่ 3 ซึ่ง ส.บ.ม.ท.ได้ยกร่างเป็นตุ๊กตาไว้แล้วว่า จะแบ่งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประมาณ 49 เขตพื้นที่ โดยจะมีเขตที่มีจังหวัดเดียว จำนวน 27 เขต เขตที่รวม 2 จังหวัดเข้าด้วยกัน มีจำนวน 17 เขต และ เขตที่รวม 3 จังหวัดเข้าด้วยกัน มีจำนวน 5 เขต แต่ทั้งนี้จะมาพิจารณาข้อมูลอีกครั้ง โดยจะจัดกลุ่มจังหวัดในเขตพื้นที่เดียวกันให้เป็นจังหวัดที่อยู่ภายใต้กรอบ 18 กลุ่มจังหวัดตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามที่ที่ประชุมได้มีมติ

ส่วนข้อเสนอของ ส.บ.ม.ท.ที่อยากให้ดำเนินการโดยไม่ต้องแก้กฎหมาย เพราะอาจทำให้ล่าช้านั้น เนื่องจากรมว.ศึกษาธิการ เกรงว่า อาจจะเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญได้ โดยขอให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งทาง สบมท.ก็เข้าใจ ทั้งนี้ เมื่อมีการตั้งเขตพื้นที่ฯ ขึ้นก็จะช่วยให้การขอย้ายสังกัดของโรงเรียนมัธยมศึกษาไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดลงได้ เพราะผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษากว่า 2,680 แห่ง จะได้มีโอกาสบริหารจัดการโรงเรียนได้ด้วยความมั่นใจภายใต้สังกัด สพฐ.

ด้าน นายยงยุทธ์ ทิพรส ประธานสมาพันธ์ครูมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มติของที่ประชุมเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่งแต่จริงๆ แล้วอยากให้มี 176 เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งในขั้นตอนต่อไปจะต้องรอลุ้นเรื่องการเสนอแก้กฎหมายเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฏรโดยจะต้องขอให้ ส.ส.ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านให้ความสำคัญกับงานการศึกษา เพื่อผลักดันการแก้ไขกฎหมายให้สำเร็จเพื่อจะได้จัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น