การรักษาด้วยยาสมุนไพร คือ หนึ่งในการรักษาแบบการแพทย์แผนไทยอันเป็นภูมิปัญญาของสยามประเทศมาแต่ครั้งโบร่ำโบราณ ก่อนหน้านี้ ด้วยความนิยมในวิถีการรักษาแบบใหม่ๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์ทำให้สมุนไพรคล้ายๆ จะเลือนไปจากสังคมไทยโดยเฉพาะสังคมในเมืองใหญ่ๆ จะมีใช้กันบ้างก็ตามชายขอบชนบทต่างจังหวัด แต่เมื่อมาถึงสมัยแห่งการแพทย์ทางเลือกอย่างทุกวันนี้ ความสนใจของผู้ใส่ใจสุขภาพจำนวนไม่น้อย ก็หันกลับมามอง “สมุนไพร” อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาให้สมุนไพรไทย ตลอดรวมถึงตำรับยาไทยให้เป็นที่ยอมรับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นภารกิจที่ต้องบอกว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา” เลยทีเดียว ซึ่งผู้ที่จะมาชี้แจงแถลงไขถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ก็คือ รศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล เจ้าของผลงาน “วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย”หนังสือเล่มโตที่ใช้เวลาศึกษากว่า 4 ปีรวมรวบผลงานการวิจัยสมุนไพร 80 ชนิด
** ต้องทำสมุนไพรให้เป็นวิทยาศาสตร์
“ปัจจุบันนี้ ในด้านการศึกษา ก็มีการให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยมากขึ้น มีหลายสถาบันเปิดการเรียนการสอนด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรในระดับปริญญา ไม่ว่าจะเป็น ม.มหิดล ม.มหาสารคาม ม.ราชภัฏจันทรเกษม ม.ราชภัฏสวนสุนันทา เป็นต้น ส่วนน้องใหม่ที่เพิ่งจะมีหมาดๆ คือที่ม.บูรพา และสำหรับเอกชนคือที่ม.รังสิต” รศ.ดร.นพมาศ เริ่มต้นเกริ่นถึงบริบทของการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรในปัจจุบัน
รศ.ดร.นพมาศ ให้ข้อมูลด้วยว่า ในส่วนที่ผู้ป่วยหลายคนยังไม่ทราบก็คือ มีการผลักดันให้มีการใช้ยาสมุนไพรเพื่อการรักษาโรค ในพ.ร.บ.บัญชียาสมุนไพร ซึ่งล่าสุดในปี พ.ศ.2549 ซึ่งมีการบรรจุยาสมุนไพรลงไปในพ.ร.บ.ฉบับนี้จำนวน 11 ตำรับ กับอีก 8 รายการยา
“ยาตำรับ” คือยาที่ต้องใช้ตัวยาหลายชนิด “เข้ายา” เพื่อออกมาเป็นยาที่ต้องการ ซึ่ง 11 ตำรับนี้ได้แก่ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ เป็นยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต หรือภาษาแพทย์ไทยเรียกว่าแก้ลม,ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง ยาธาตุบรรจบ ยาเหลืองปิดสมุทร เป็นยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร,ยาประสะกานพลู แก้อาการปวดท้องจากธาตุผิดปกติ,ยาประสะไพล เป็นยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา,ยาแก้ไข้ห้าราก ยาเขียวหอม ยาจันทลีลา เป็นยาแก้ไข้ และ ยาประสะมะแว้ง รักษาอาการไอและขับเสมหะ
ส่วนยาสมุนไพรที่เข้า พ.ร.บ.บัญชียาสมุนไพรที่เป็นยาเดี่ยวๆ 8 ตัวคือ ฟ้าทะลายโจร ใช้แก้เจ็บคอ แก้หวัด และแก้ท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ,ขมิ้นชัน แก้อาการแน่นจุกเสียด, ขิง แก้ท้องอืด จุกเสียด แก้คลื่นไส้ อาเจียน เมารถเมาเรือ, ชาชงชุมเห็ดเทศ แก้อาการท้องผูก, พญายอ แก้เริม งูสวัด แก้ผดผื่นคัน ลมพิษ,ไพล แก้อาการบวม ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก,เจลพริก แก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และ ครีมบัวบก ใช้เป็นครีมสมานแผล
“นั่นหมายความว่า ทางโรงพยาบาลสามารถจ่ายยาสมุนไพรในบัญชียาหลักดังกล่าว ให้แก่ผู้ป่วยได้ ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน โดยผู้ใช้สิทธิประกันสังคมและสามสิบบาทฯ ไม่เสียค่าใช้จ่ายหากแพทย์จ่ายยาสมุนไพรนี้ให้ และก็มีบางโรงพยาบาลที่ใช้ยาสมุนไพรควบคู่ไปกับการใช้ยาแผนปัจจุบันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่นโรงพยาบาลอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี โรงพยาบาลบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก หรือในชุมชนเข้มแข็งอย่างใน อ.กุดชุม จ.ยโสธร แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ตามโรงพยาบาลอีกจำนวนไม่น้อย ก็ไม่นิยมยาสมุนไพร”
อาจารย์ประจำคณะเภสัชฯ ผู้อุทิศชีวิตเพื่องานด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยมากกว่า 20 ปี รายนี้ระบุว่า สิ่งที่ยากที่สุดอย่างหนึ่ง คือการทำสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยให้น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในทัศนคติของแพทย์แผนปัจจุบัน
“เราจะมาพูดลอยๆ ว่าสมุนไพรมันดี ใช้ได้ ใช้ทดแทนยาได้ เพราะภูมิปัญญาโบร่ำโบราณของเราแต่เก่าก่อน หมอแผนปัจจุบันที่รักษาโรคตามหลักวิทยาศาสตร์เขาไม่ฟังเราหรอก และที่สำคัญ นอกจากเราจะต้องทำให้แพทย์แผนปัจจุบันยอมรับ ทางเราเองก็ต้องดูแลให้ยาสมุนไพรเหล่านี้มีมาตรฐานด้วย ทำให้หมอยอมรับ ทำยังไง ทางออกก็คือเราต้องทำให้หมอซึ่งรักษาคนด้วยวิทยาศาสตร์ เข้าใจสมุนไพรในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ นั่นก็คือเราต้องทำสมุนไพรให้เป็นวิทยาศาสตร์”
** กรรมวิธีการต้ม ยาขมสำหรับนักวิจัย
แต่อุปสรรคสำคัญที่ท้าทายความสามารถของนักวิจัยไทยประการสำคัญคือ ยาสมุนไพรไทยส่วนใหญ่ จะมีลักษณะเป็น “ยาต้ม” ซึ่งกรรมวิธีการต้ม ทำให้ยาที่ได้ออกมานั้นมีโมเลกุลใหญ่มาก วิจัยยาก
“ยาดองที่ดองกับเหล้า ยาที่ได้ออกมาโมเลกุลจะเล็ก จะค่อนข้างวิจัยหาคุณสมบัติของยาได้ง่ายกว่ายาต้ม แต่ส่วนใหญ่ยาของเราเป็นยาต้ม ซึ่งทำยากและใช้เวลานานในการวิจัย ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานด้านสมุนไพรของเราไปได้ค่อนข้างช้า”
อาจารย์คณะเภสัชฯ มหิดลรายนี้ย้ำหนักแน่นในประเด็นนี้ ว่า แม้สูตรยาสมุนไพรไทยที่ต้องต้มจะยากต่อการศึกษาวิจัย แต่ก็จำเป็นต้องศึกษาเพื่อหาคุณสมบัติของยานั้นๆ ให้ชัดเจน และโดยส่วนตัวแล้ว อาจารย์ค่อนข้างทึ่งในภูมิปัญญาของคนไทยโบราณมาก เนื่องจากทดลองเปลี่ยนวิธีการจากต้มไปเป็นดองเหล้า ผลปรากฏว่าคุณสมบัติของยาก็เปลี่ยนไป
“เขาคงลองผิดลองถูกมานาน กว่าจะได้ภูมิปัญญาเหล่านั้นมา แต่ก็อย่างที่เรียนให้ทราบว่า ในยุคปัจจุบัน จะบอกว่ายานี่รักษาโรคนั้นโรคนี้ได้ เพราะภูมิปัญญาสืบทอดมา มันก็คงจะไม่ได้ เราก็ต้องทดลอง ศึกษาวิจัยกันไป ดังนั้นกว่าเราจะบอกประชาชนว่ายาสมุนไพรอะไรที่กินได้ มีคุณสมบัติแก้โรคอะไร เราต้องทดลองแล้วทดลองอีก คือเช็กให้แน่ใจว่ามีคุณสมบัติแก้โรคได้จริงๆ จากการทดลองวิทยาศาสตร์ และต้องปลอดภัยถูกต้องตามหลักการใช้ด้วย”
** สมุนไพร ใช้ได้ ปลอดภัย ถ้าใช้ให้เป็น
รศ.ดร.นพมาศ กล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลาการทำงาน ที่นอกจากจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการศึกษาวิจัย เพื่อยกระดับสมุนไพรให้มีความน่าเชื่อถือแล้ว การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในกระบวนการผลิตก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน
“พูดมาเป็นสิบปีแล้วว่ายาสมุนไพรต้องได้มาตรฐาน ต้องดูแลทุกกระบวนการผลิต ก็มีคนบ่นเหมือนกันสมัยที่เราพูดเมื่อสิบปีที่แล้วว่า ทำแบบนี้พวกผู้ผลิตรายย่อย รายเล็กรายน้อย ก็จะอยู่ยาก หากต้องผลิตและดูแลอย่างใกล้ชิดให้ได้มาตรฐานปลอดภัย แต่เราก็ยังยืนยันว่ามันเป็นเรื่องของผู้บริโภคโดยตรง ถ้าทำไม่ได้ ทำได้ไม่ดี ก็จะอันตราย เรื่องนี้ซีเรียสมาก เราก็ตรวจให้อย. พวกผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ถ้าไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ตรงตามฉลากที่แปะไว้หน้าบรรจุภัณฑ์นี่โทษร้ายแรง ถึงขั้นปิดโรงงานกันเลยทีเดียว” รศ.ดร.นพมาศ กล่าวถึงทัศนคติของคนไทยบางส่วน ที่มองว่าสมุนไพรไม่มีสารเคมี ไม่มีสารตกค้าง และปลอดภัย100% ว่า จริงๆ แล้วทัศนคติดังกล่าวก็ไม่ถูกนัก
“เรื่องทัศนคตินี่ค่อนข้างลำบากที่จะเปลี่ยน คือ บางส่วนที่มองว่าสมุนไพรดีกว่ายาแผนปัจจุบัน ปลอดภัยกว่าเพราะเป็นพืช ไม่มีสารตกค้าง แล้วก็ใช้กันแบบไม่อ่านฉลาก ใช้เองโดยไม่ศึกษา เพราะคิดว่ามันปลอดภัย จริงๆ ก็ไม่ถูก เพราะยาส่วนใหญ่ก็สกัดจากพืช สมุนไพรเองก็มีสารเคมีเช่นกัน แต่มันใช้ทดแทนกันได้ เพียงแต่มีข้อแม้ว่า ต้องใช้ให้ถูกส่วน ถูกชนิด และถูกขนาดคือต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สมุนไพรมันก็มีเคมี มีฤทธิ์ทำให้หายจากโรคได้ และก็มีพิษที่ทำให้เป็นอันตรายได้เช่นกัน หากใช้ผิดส่วน ผิดชนิด ผิดขนาด อันนี้ต้องระวังและดูให้ดี”
** อะไรอยู่ในหนังสือ
สำหรับการจัดทำหนังสือ “วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย” นั้น รศ.ดร.นพมาศให้ข้อมูลว่า ทำร่วมกัน 2 คนกับ ผศ.ดร.นงลักษณ์ เรืองวิเศษ โดยสมุนไพรในหนังสือจะมีภาพสีประกอบ มีมาตราส่วนเทียบเคียงขนาด เพื่อให้เห็นลักษณะสมุนไพรนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันกรณีชื่อซ้ำ ชื่อพ้อง แต่ตัวยาคนละตัว แล้วก็จะให้รายละเอียดในเรื่องของชื่อ ทั้งชื่อวงศ์ ชื่อภาษาละติน และชื่ออื่นๆ ที่ถูกเรียกในภูมิภาคต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะแตกต่างกัน
นอกจากนี้ ในหนังสือเล่มดังกล่าว ยังมีการชี้แจงสารประกอบอย่างละเอียด รวมไปถึงคุณสมบัติ รวมไปถึงข้อกำหนดคุณภาพทางกายภาพและทางเคมี และระบุส่วนที่จะนำมาใช้อย่างชัดเจนด้วย
“ที่เราระบุข้อกำหนดคุณภาพทางกายภาพและทางเคมีเอาไว้ก็เพื่อ กำหนดว่าสมุนไพรชนิดนั้นๆ ต้องมีสารปนเปื้อนไม่เกินเท่าไหร่ มีความชื้นไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ มีสารที่ออกฤทธิ์เป็นยานั้นๆ ได้ไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการนำมาใช้ ไม่ใช่ว่านำมาเท่าปริมาณน้ำหนักที่พอดี แต่สารประกอบภายในน้อยกว่าที่ปนเปื้อนกว่าที่กำหนด ตั้งใจทำ 80 ชนิด เพราะตอนที่ทำ ตั้งใจทำถวายในหลวงปีที่ทรงมีพระชนมายุ 80 พรรษา”
เมื่อถามถึงความเหมาะสมของกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ รศ.ดร.นพมาศ กล่าวว่า เหมาะกับทั้งบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจเรื่องสมุนไพร สนใจอยากใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการรักษาโรค รวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และนักเรียนแพทย์ที่มีความสนใจด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย
รศ.ดร.นพมาศ ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ในด้านของการรักษาผู้ป่วย ในแต่ละปีไทยต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อนำเข้ายารักษาโรค ถ้าเพียงแค่คนไทยใช้ยาสมุนไพรแทนยาแผนปัจจุบันในกรณีโรคไม่ร้ายแรง เช่น ปวดท้อง ท้องเสียไม่ติดเชื้อ เป็นไข้ เป็นลม ก็จะลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ปีละไม่น้อยเลยทีเดียว