ศูนย์คุณธรรม ผนึกกำลัง สพฐ.ลดวิกฤตครอบครัว หวังแก้ปัญหาหย่าร้าง ท้องก่อนวัยอันควร ทำแท้ง เด็กกำพร้า เชื่อการเร่งส่งเสริมค่านิยมหญิงไทยยุคใหม่ให้เหมาะสมช่วยได้
เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงนามความร่วมมือการส่งเสริมสถานศึกษาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้สู่ครอบครัวอบอุ่น โดย พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานอนุกรรมการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน อันเนื่องมาจากครอบครัวขาดความอบอุ่น และก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และไม่รู้จักการรับผิดชอบป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลัง ส่งผลให้หญิงไทยตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และยังพบว่า เป็นกลุ่มที่ยังไม่พร้อมกับการรับภาระการเป็นแม่ บางรายตัดสินใจทำแท้ง บางรายคลอดเด็กออกมาก็นำไปทิ้ง จนเกิดปัญหาเด็กกำพร้าเกิดขึ้น เป็นภาระของสังคมและยังคงเป็นปัญหาที่แก้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจากนี้ หญิงไทยสมัยใหม่มีค่านิยมที่ชอบแต่งงานกับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นค่านิยมใหม่ในสังคม ดังนั้น การลงนามความร่วมมือส่งเสริมสถานศึกษาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้สู่ครอบครัวอบอุ่นจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาบทบาทของสถานศึกษา ให้เชื่อมโยงกับสถาบันครอบครัว และสถาบันศาสนา ให้นำไปสู่การเสริมสร้างครอบครัวที่อบอุ่นและเข้มแข็ง โดยมีการปรับเปลี่ยนค่านิยม และพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนและผู้ปกครองได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งยังสามารถทำให้ปัญหาในสังคมลดลงอีกด้วย
นายวินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ.จะให้การส่งเสริม และสนับสนุนการอบรมคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะในสถาบันครอบครัว ซึ่งในเรื่องนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ก็ให้ความสนใจ และมีความเป็นห่วงอย่างมาก ขณะเดียวกัน สพฐ.จะให้งบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์คุณธรรมในการหาพันธมิตร ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างครอบครัวอบอุ่นให้มีความต่อเนื่องต่อไป
ด้านนาย พิเชษฐ รุ้งลาวัลย์ รอง ผอ.ศูนย์วิจัยค้นคว้าศาสนาและวัฒนธรรม วิทยาลัยแสงธรรม กล่าวว่า น.ส.ทิพย์อนงค์ รัชนีลัดดาจิต นักวิจัยของวิทยาลัยแสงธรรม และคณะ ได้ทำการวิจัย เรื่อง การศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความซื่อสัตย์แห่งคำมั่นสัญญาของคู่สมรสในสังฆมณฑลราชบุรี ปีการศึกษา 2551 จากกลุ่มตัวอย่างใน จ.กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม และเพชรบุรี จำนวน 369 คน แบ่งเป็นผู้สมรส 301 คน และผู้หย่าร้าง 68 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างจะนิยมสมรส เมื่ออายุ 21-30 ปี ร้อยละ 49.6 รองลงมามากกว่า 30 ปี ร้อยละ 39.8 และอายุ 15-20 ปี ร้อยละ 10.6 สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างอายุเมื่อสมรสกับการหย่าร้างและไม่หย่าร้าง พบว่า กลุ่มที่สมรสเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี เป็นกลุ่มที่หย่าร้างมากที่สุด ขณะที่กลุ่มอายุ 15-20 และ21-30 ปี เป็นกลุ่มที่หย่าร้างน้อย ซึ่งปัจจัยของการหย่าร้างเกิดจาก ความแตกต่างอายุของคู่สมรสมากกว่า 10 ระยะเวลาของการสมรสที่น้อย 1-5 ปี การไม่มีบุตร รวมถึงคู่สามีและภรรยาไม่ค่อยได้ปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนาร่วมกัน นอกจากนี้ ยังพบว่า อาชีพที่มีการหย่าร้างมากที่สุด คือ อาชีพค้าขาย ร้อยละ 31.1 รองลงมาเป็นพนักงานบริษัท/ห้าง ร้อยละ 20