xs
xsm
sm
md
lg

รพ.เอกชนยักษ์ใหญ่ยันไม่ปลดพนักงาน ไม่ปิดไอซียู แค่ลดโอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงพยาบาลเอกชนยักษ์ใหญ่ ยันไม่ได้ปลดพนักงาน ไม่ปิดห้องไอซียู แค่ปรับลดโอทีเท่านั้น ชี้เป็นไปไม่ได้ผู้ป่วยต่างชาติย้ายไปรักษาที่อินเดียเพราะไทยสภาพแวดล้อมดีกว่า ระบุชะลอตัวเฉพาะช่วงปิดสนามบิน ลดลง 30% เท่านั้น

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มีการแถลงข่าวชี้แจงกรณีที่มีข่าวระบุว่าภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจนต้องปิดห้องไอซียู และเลิกจ้างพนักงานนั้น ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กลุ่มภูมิภาค โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนไม่เป็นความจริง โดยโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งมีนโยบายเช่นเดียวกันที่จะไม่ปรับลดพนักงานด้วยการปลดออก แต่ค่าทำงานนอกเวลาหรือโอทีอาจจะปรับลดลงบ้าง เพื่อให้ทุกคนมีงานทำต่อไป สำหรับการปิดบริการห้องไอซียูและห้องฉุกเฉินก็ไม่มีเช่นกัน เนื่องจากผู้ป่วยต่างชาติจะใช้บริการห้องเหล่านี้จำนวนน้อย เพราะผู้ที่เข้ามารักษาในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีการวางแผนการรักษาล่วงหน้า ไม่ได้เข้ามาแบบฉุกเฉิน

ศ.นพ.สิน กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารักษาในประเทศไทยมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง กลุ่มนี้อาจจะสร้างผลกระทบต่อโรงพยาบาลบ้างในช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดีทั่วโลก 2.กลุ่มที่มีประกันสุขภาพ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น และ3.กลุ่มที่รัฐบาลส่งเข้ามารักษาโดยมีการทำสัญญากับโรงพยาบาลที่รับรักษา ซึ่ง 2 กลุ่มนี้จะไม่กระทบต่อจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาแม้ภาวะเศรษฐกิจจะไม่ดี เนื่องจากมีการจัดตั้งงบประมาณที่ชัดเจนในส่วนของการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว และเป็นไปไม่ได้ที่จะเบี่ยงการรักษาจากประเทศไทยไปยังประเทศอินเดีย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยเหมือนกับประเทศไทย

ศ.นพ.สินกล่าวต่อว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนของไทยที่รับรักษาผู้ป่วยต่างชาติถือว่าไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตโลก อาจจะได้รับผลกระทบบ้างในช่วงการปิดสนามบินทำให้ผู้ป่วยต่างชาติลดลง 30% แต่หลังจากนั้นก็เข้าสู่สภาพปกติ ซึ่งผลประกอบโดยภาพรวมของโรงพยาบาลเอกชนตลอดปี 2551 มีระดับที่สูงขึ้น แต่จะขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับศักยภาพของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง และเชื่อว่าอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนของไทยมีศักยภาพที่จะแข่งกับต่างชาติได้และจัดอยู่ในลำดับต้นๆของโลก อุตสาหกรรมนี้จึงยังไปได้ดี

ศ.นพ.สิน กล่าวด้วยว่า ส่วนที่มีการระบุว่ารายได้ 60-70%ของโรงพยาบาลเอกชนที่รับรักษาผู้ป่วยต่างชาติมาจากค่าตรวจเช็คสุขภาพนั้น โรงพยาบาลเอกชนเกือบไม่มีกำไรจากการให้บริการในส่วนนี้ แต่การดำเนินการตรวจเช็คร่างกายเนื่องจากหวังลึกๆ ว่าหากตรวจเจอโรคแล้วผู้ป่วยจะรักษาต่อที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักของโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งที่รับรักษาผู้ป่วยต่างชาติ คือ ต้องการดูแลผู้ป่วยหนักที่ป่วยเป็นโรคที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือพิเศษในการรักษา แต่โรงพยาบาลในประเทศเขารักษาไม่ได้ ซึ่งเดิมจะไปรักษาที่ประเทศสิงคโปร์แต่ปัจจุบัน 60-70% เข้ามารักษาในประเทศไทย

“ขณะนี้รายรับที่ประเทศไทยได้รับจากผู้ป่วยต่างชาติปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท ตกถึงมือโรงพยาบาลเอกชนเพียงแค่ 10% ที่เหลืออีก 90% ตกอยู่ที่ผู้ค้าปลีกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต่างๆ เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ามารักษาไม่ได้เดินทางมารักษาเพียงคนเดียวแต่จะมีญาติมาด้วยและส่วนใหญ่ต้องรักษานานเป็นเดือน ทำให้ญาติใช้เวลาว่างในการท่องเที่ยวในประเทศ”

ศ.นพ.สิน กล่าวเพิ่มอีกว่า สำหรับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาวไทย ร้อยละ 80 ที่เหลืออีกร้อยละ 20 เป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ ร้อยละ 6 เป็นชาวตะวันออกกลาง เป็นกลุ่มที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี ร้อยละ 5 เป็นชาวญี่ปุ่น ทั้งกลุ่มที่พำนักอยู่ในประเทศไทย นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 9 เป็นชาวต่างชาติต่างๆ โดยเฉพาะชาวยุโรป

“ในอนาคตกลุ่มลูกค้าชาวตะวันออกกลางน่าจะมีการเติบโตมากขึ้น เพราะจากตัวเลขในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ลูกค้ากลุ่มนี้เติบโตแบบ 100% จากเดิมเมื่อ 5-6 ปีก่อนแทบจะไม่มีลูกค้ากลุ่มนี้เลย โดยสาเหตุที่ทำให้ชาวตะวันออกกลางต้องเดินทางมารักษาโรคในประเทศต่างๆ เพราะในประเทศของตนเอง ไม่มีบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอ มีแต่เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งในอดีตมักจะเดินทางไปทศไทยสร้างรายได้ในส่วนอื่นๆ” ศ.นพ.สินกล่าว

ด้าน นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนหวงแหนบุคลากรมาก เพราะต้องใช้บุคลากรที่มีใบประกอบวิชาชีพและก่อนที่จะให้ทำงานก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากในการฝึกอบรม จึงเป็นไปได้ยากมากที่โรงพยาบาลเอกชนจะปลดพนักงาน

ด้าน นพ.ปราโมทย์ นิลเปรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า ผู้ป่วยต่างชาติในโรงพยาบาลสมิติเวชมีประมาณ 40% อันดับ 1 เป็นชาวญี่ปุ่น รองลงมาเป็นชาวสหรัฐอเมริกา และชาวยุโรป

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า ผู้ป่วยต่างชาติในโรงพยาบาลปิยะเวทมีประมาณ 25-30% โดยครึ่งหนึ่งเป็นชาวตะวันออกกลาง ตามด้วยสแกนดิเนเวีย เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเวียดนาม

พญ.จามรี เชื้อเพชระโสภณ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีประมาณ 45% ของผู้ป่วยทั้งหมด ในจำนวนนี้ 40% เป็นชาวตะวันออกกลาง

นพ.สมอาด วงษ์ขมทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นนัล กล่าวว่า ผู้ป่วยต่างชาติของโรงพยาบาลกรุงเทพ มีประมาณ 20% เป็นชาวตะวันออกกลาง 6% ญี่ปุ่น 5% ยุโรปและสหรัฐอเมริกา 9%
กำลังโหลดความคิดเห็น