xs
xsm
sm
md
lg

บุกเคลียร์ข้อบังคับ “แปลงเพศ” กลุ่มข้ามเพศฯ เข้าใจ-เปลี่ยนใจหนุนแพทยสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ บุกเคลียร์ข้อบังคับแปลงเพศของแพทยสภา ข้องใจกำหนดผ่าได้อายุ 18 ปี ต้องผ่านจิตแพทย์ 2 คน ทำให้ยุ่งยากส่งผลหมอชะลอไม่เฉาะให้ หลังฟังคำชี้แจงนานร่วม 2 ชั่วโมง เข้าใจมากขึ้นลุกหนุนข้อบังคับ ระบุเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ยอมรับสถานะหญิงข้ามเพศหวังใช้เบิกทางต่อสู้เรียกร้องสิทธิเหมือนหญิงแท้

เมื่อเวลา 11.00 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข นายยลลดา เกริกก้องสวนยศ ประธานกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทย พร้อมผู้หญิงข้ามเพศประมาณ 20 คน เดินทางเข้าพบนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง เกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ.2552 ซึ่งนายวิทยาได้รับฟังปัญหาก่อนที่จะมอบหมายให้แพทยสภาเป็นผู้ดำเนินการชี้แจงและทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ โดยใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง

นายยลลดา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับของแพทยสภาในเรื่องนี้ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ไม่เห็นด้วยกับการที่กำหนดให้ผู้ที่จะแปลงเพศได้ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปี เพราะส่วนใหญ่จะมีความต้องการที่จะแปลงเพศมาตั้งแต่อายุน้อยกว่า 18 ปีหรือตั้งแต่เกิด และ2.ไม่เห็นด้วยที่กำหนดให้ผู้ที่จะกระทำการแปลงเพศต้องได้รับการรับรองจากจิตแพทย์จำนวน 2 ท่าน โดยมองว่าจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการแปลงเพศ แต่ควรให้อยู่ในดุลพินิจของจิตแพทย์เป็นรายกรณีว่าผู้ป่วยควรได้รับคำรับรองจากจิตแพทย์กี่ท่าน

“มีน้องๆ หลายรายที่เตรียมที่จะผ่าตัดแปลงเพศ แต่แพทย์ปฏิเสธการผ่าตัดและให้ชะลอไว้ก่อน ทั้งๆ ที่ได้เตรียมการทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ดังนั้น จึงอยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้แพทย์เข้าใจข้อบังคับของแพทยสภาเช่นกันว่าสามารถดำเนินการได้ไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากมีความเป็นห่วงเช่นเดียวกันว่า จะมีบางส่วนไปผ่าตัดกับหมอเถื่อน ซึ่งจะส่งผลอัตรายต่อสุขภาพได้” นายยลลดากล่าว
ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
นายยลลดา กล่าวภายหลังฟังคำชี้แจงแพทยสภาว่า เมื่อได้ทำความเข้าใจกับแพทยสภาแล้ว พวกเรายอมรับได้ เข้าใจข้อบังคับฉบับนี้มากขึ้น จึงอยากให้รมว.สาธารณสุขเร่งลงนามในข้อบังคับนี้โดยเร็ว เพราะเห็นว่าข้อบังคับนี้จะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของพวกเรา และเป็นการยกระดับมาตรฐานทางการแพทย์ของไทย

“สิ่งที่พวกเราเป็นเป็นอาการของโรค โดยมีความผิดปกติทางร่างกายที่มีอวัยวะเพศชายงอกออกมาเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ก็ถือว่าหายจากอาการป่วย เหมือนกับการเป็นหวัดที่สามารถหายได้เมื่อได้รับการรักษา จึงไม่อยากให้สังคมมองเราอย่างรังเกียจ และหวังว่าในอนาคตกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้พวกเรานำไปใช้อ้างอิงในการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายอื่นๆ” นายยลลดากล่าว

ด้านนอ.(พ.)นพ.อิทธพร คณะเจริญ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า หลังจากกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯได้ฟังคำชี้แจงรายละเอียดข้อบังคับจากแพทยสภาแล้วก็มีความเข้าใจตรงกัน เกิดการสมานฉันท์ เนื่องจากแพทยสภาออกข้อบังคับนี้ด้วยเจตนารมณ์ที่ดี ต้องการให้เป็นกฎหมายฉบับแรกที่รับรองสิทธิของกลุ่มคนที่แปลงเพศ เพื่อนำไปสู่การยอมรับสิทธิของคนกลุ่มนี้ในกฎหมายอื่นๆ เช่น การเกณฑ์ทหาร การใช้คำนำหน้าบุคคล และการแต่งงานกับเพศชาย อีกทั้ง การออกข้อบังคับนี้จะทำให้แพทย์กล้าที่จะทำการผ่าตัดแปลงเพศมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องข้อหาทำร้ายร่างกายจากการตัดอัณฑะตามที่กฎหมายอาญากำหนด จะเกิดประโยชน์ทั้งผู้ป่วยและแพทย์

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รักษาการผู้ช่วยเลขาธิการแพทย์สภา กล่าวว่า เจตนาในการออกข้อบังคับฉบับนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้ที่ความประสงค์จะผ่าตัดแปลงเพศ และควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้มีมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาอาจเกิดความลักลั่นในการปฏิบัติ โดยเฉพาะในเรื่องของอายุของผู้ที่สามารถแปลงเพศได้ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวจะมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากผู้ที่มีความต้องการแปลงเพศจะสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ได้เต็มที่ รวมทั้งรับประทานฮอร์โมนเพศในปริมาณที่มีความเหมาะสมโดยแพทย์คอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะสามารถผ่าตัด เมื่ออายุครบ 18 ปี โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองและมีใบรับรองจากแพทย์ซึ่งข้อบังคับจะมีผลบังคับใช้ 180 วัน หรือ 6 เดือน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศอาจจะเกิดความไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้หารือพูดคุยกันในข้อบังคับแพทยสภา ทั้ง 6 ข้อ แล้ว ทำให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะไม่มีข้อใดที่สร้างความไม่พอใจให้กับผู้หญิงกลุ่มนี้ แต่หากทดลองใช้กฎหมายไปแล้วไม่พอใจเกิดข้อเรียกร้องก็สามารถแก้ไขภายหลังได้เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด” นพ.ไพโรจน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น