xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ-เพศที่ 3 แนะ ศธ.ควรถามความเห็นก่อนจัดระเบียบในสถานศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการเผยเป็นเรื่องดีการสำรวจเพศที่ 3 ในสถาบันอุดมศึกษา ติงต้องมีวิธีที่ละเอียดอ่อนไม่ให้ถูกเพ่งเล็งจากสังคมและควรรับฟังความเห็น ด้านประธานกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ วอนก่อนมีระเบียบใดๆ ขอได้แสดงความเห็นบ้าง


ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและความเท่าเทียมของเพศ และ พ.ร.บ.คำนำหน้านาม ซึ่งเสนอให้ผู้ชายที่แปลงเพศเป็นหญิงแล้วใช้คำนำหน้านามจากนายเป็น น.ส.ได้ ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งการให้มหาวิทยาลัยสำรวจจำนวนเพศที่ 3 เพื่อวางมาตรการปฎิบัติที่เหมาะสม เช่น หอพักและห้องน้ำว่า เป็นการยอมรับความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น สมัยก่อนในมหาวิทยาลัยจะไม่ค่อยพูดเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันยอมรับว่า มีอีกเพศหนึ่งก็เป็นเรื่องดี ส่วนวิธีการจัดการอย่างไรต้องทำอย่างละเอียดอ่อน อย่าไปลิดรอนให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าถูกเพ่งเล็งของสังคม และควรต้องเปิดเวทีคุยกับเพศที่ 3 ว่ามีปัญหาการอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรืออยากได้รับความช่วยเหลืออย่างไร ถ้าได้คำตอบว่าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร

“ไม่ได้เป็นการส่งเสริมอะไร เพราะสภาพปัญหานี้มาจากฮอร์โมน สรีระร่างกายและพันธุกรรม ที่ไม่ใช่สังคมกำหนด บางทีเราไปกลัวว่าถ้าให้พื้นที่กับคนที่เป็นเพศที่ 3 มาก แล้วสังคมจะทำตาม ดิฉันว่าคงไม่ใช่ เพราะงานวิจัยที่พยายามดูเรื่องนี้ตั้งเยอะก็ระบุว่าเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ มาจากภายใน ที่เราต้องเห็นใจและยอมรับมากกว่า และถ้าศึกษาจริงๆ จะพบว่ามีความหลากหลายมาก บางคนเขายังอยากชายอยู่ หรืออยากเป็นหญิง แต่ความที่สังคมไม่รู้ไม่เข้าใจคิดว่าเขาเหมือนกันหมด ความจริงเขาไม่เหมือนกันเลย อย่างเรื่องคำนำหน้านามที่เชิญเขามาแสดงความเห็น เขาก็ไม่ได้มีความเห็นตรงกัน คนที่แปลงเพศเป็นหญิงแล้ว ก็อยากมากที่จะใช้คำนำหน้านาม น.ส. ส่วนคนที่ไม่ได้แปลงเพศเขาไม่เห็นด้วยก็มี สำคัญคือจะต้องให้เขามีพื้นที่ได้คุยหรือถก เพื่อช่วยกันร่วมหาทางออกที่ดีที่สุด” ดร.จุรี กล่าว

ด้านนายยลดา เกริกก้อง สวนยศ หรือ “น้องนก” ประธานกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศแห่งประเทศไทย เป็นผู้ชายที่มีจิตใจเป็นหญิงและได้แปลงเพศเรียบร้อยแล้ว กล่าวว่า ก่อนจะออกระเบียบข้อบังคับอะไรมาใช้กับเพศที่ 3 ขอเพียงอย่างเดียวว่าให้โอกาสตัวแทนคนกลุ่มนั้นได้แสดงความเห็นบ้าง ส่วนตัวในสมัยที่เรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ปีที่ 1 ยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ ก็พักอยู่หอพักชาย เมื่อขึ้นปีที่ 2 ไปผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิงแล้วได้ยื่นให้กองกิจการนักศึกษาพิจารณาอนุญาตให้อยู่หอพักหญิง เพราะไม่สะดวกที่จะอยู่ร่วมกับผู้ชายในการทำกิจกรรมต่างๆ และได้รับความเห็นชอบ รวมทั้งมีเพื่อนร่วมห้องเป็นผู้หญิง สำหรับเพศที่ 3 คนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศก็ไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับหอพักชาย อย่างไรก็ตาม มีรุ่นพี่ที่แปลงเพศแล้วใช้วิธีเลี่ยงออกไปพักนอกมหาวิทยาลัยกันมากขึ้น

ตอนนั้นเพื่อนที่อยู่ในหอพักชายเขาก็มีปัญหา แต่ด้วยความที่มีเงื่อนไขว่าต้องผ่าตัดแปลงเพศ เขาก็ไม่สามารถก้าวข้ามเงื่อนไขนั้นไปได้ เขาก็ต้องยอมรับ แต่เรื่องจิตใจ ความรู้สึกในการดำเนินชีวิตที่อยู่ในหอชายก็มีปัญหาเหมือนกัน เช่น เวลาที่เขาจะอาบน้ำ แม้คนที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศจะยังไม่ผ่าตัดหน้าอกหรือแปลงเพศ เขาก็ไม่กล้าถอดเสื้อ มีความอาย เวลาที่ต้องใช้ห้องน้ำรวม” ประธานกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศฯ กล่าว และว่า การจัดระเบียบเพศที่ 3 ให้อยู่ได้อย่างเหมาะสมนั้นเป็นการช่วยให้เพศที่ 3 อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุขมากขึ้น ขณะเดียวกันช่วยผู้ชายทั่วไปที่ใช้ห้องน้ำรวมกับผู้หญิงข้ามเพศ ก็สะดวกใจด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น