xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้ 4 ปีประกันฟาดกำไร 3 พันล ."วิทยา” ไม่หวั่นแรงต้าน ตั้งกก.รื้อพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
“วิทยา” ไม่หวั่นแรงต้าน เดินหน้าตั้งคณะทำงานศึกษาข้อมูลคุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถ หวังประชาชนเข้าถึงการรักษามากขึ้น สวรส.เผย ผลวิจัย 4 ปี บริษัทประกันวินาศภัยฟันกำไรจากเบี้ยประกันภัยภาคบังคับกว่า 3 พันล้านบาท ขัดพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่ไม่มุ่งกำไร ชี้ รื้อระบบใหม่ ไม่กระทบธุรกิจ เพราะไม่ใช่รายได้หลัก เสนอ 3 ทางเลือก ลดเบี้ยประกัน แก้ไข พ.ร.บ.ใหม่ หรือยกเลิก พ.ร.บ.ขยายสิทธิประโยชน์บัตรทอง หรือเก็บภาษีน้ำมันเพิ่ม ด้าน หมอชนบท เชียร์รัฐมนตรีเอาจริง หยุด บ.ประกัน เอาเปรียบ

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีแนวคิดในการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการเงินกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือหน่วยงานอื่นที่มีความเหมาะสมเป็นผู้บริหารจัดการแทนบริษัทประกันภัยนั้นว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ สธ.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาและรวบรวมตัวเลขผู้ประสบภัยจากรถทั่วประเทศ ว่า มีจำนวนเท่าไร หากเกิดอุบัติเหตุจะมีขั้นตอนอุปสรรคปัญหาอย่างไร มีการเก็บเบี้ยประกันและค่ารักษาพยาบาลมากน้อยเท่าไหร่ รวมถึงเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียในระบบการให้บริการ โดยไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา ซึ่งจะประสานข้อมูลจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งได้ทำการวิจัยไว้แล้วมาประกอบการพิจารณา โดยหลังจากได้ข้อสรุป จะหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

“ที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนบ่อยมาก โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลที่ได้รับสิทธิคุ้มครองจากบริษัทประกัน ในช่วงแรกเมื่อรักษาหมดวงเงินประกัน ก็ต้องกลับเข้ามารักษาตามสิทธิของแต่ละบุคคล ซึ่งถือว่าไม่ได้รับการดูแลจาก พ.ร.บ.เต็มที่ ทั้งนี้ การเดินหน้าดำเนินการเรื่องนี้นั้น ไม่เป็นห่วงการต่อต้าน หรือคัดค้าน จากบริษัทประกันภัย หากได้ทำเรื่องที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนให้ได้เข้าถึงการรักษามากยิ่งขึ้น”นายวิทยา กล่าว

ด้านนพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า จากรายการศึกษา เรื่อง “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในบริบทของการประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ของนพ.ดร.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียรและคณะเมื่อปี 2548 ภายใต้การสนับสนุนจาก สปสช.และ สวรส.พบว่า จำนวนผู้ป่วยมารับการรักษาจากห้องฉุกเฉินที่สถานพยาบาลต่างๆ ประมาณ 12 ล้านครั้งต่อปี ประมาณการผู้ป่วยจากอุบัติเหตุการจราจร 1.2 ล้านครั้ง เป็นผู้ป่วยนอกจากอุบัติเหตุการจราจร 9 แสนครั้ง และผู้ป่วยในจากอุบัติเหตุการจราจร 3 แสนครั้ง

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า ประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งหมด เนื่องจากอุบัติเหตุจราจร ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 7,158 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1.ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกจากอุบัติเหตุการจราจร 369 ล้านบาท คิดเป็น 5% 2.ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในจากอุบัติเหตุ 4,518 ล้านบาท คิดเป็น 63% 3.ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต 1,050 ล้านบาท หรือ 15% 4.ค่าสินไหมทดแทนกรณีทุพพลภาพ 105 ล้านบาท คิดเป็น 1% และ 5.ค่าใช้จ่ายก่อนนำส่งโรงพยาบาล 1,116 ล้านบาท หรือ 16%

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ผลประกอบการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถของบริษัทประกันวินาศภัย ในปี 2545 พบว่า เบี้ยประกันภัยรับที่ถือเป็นรายได้ 7,003 ล้านบาท ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นระหว่างปี 3,674 คิดเป็น 52% ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบริหารจัดการ 2,870 ล้านบาท หรือ 41% กำไร 459 ล้านบาท คิดเป็น 7% ส่วนผลกำไรสะสมใน พ.ศ.2542-2545 มีจำนวน 3,300 ล้านบาท เมื่อวิเคราะห์ระบบประกันทั้งหมดในปี 2546 ซึ่งรวมเบี้ยประกันชีวิตและประกันวินาศภัย พบว่า เบี้ยรับทั้งหมด 204,514 ล้านบาท แบ่งเป็น เบี้ยประกันภัยรับจาก พ.ร.บ.นี้ คิดเป็นเพียง 4% ประกันชีวิต 66% ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ 16% และประกันภัยอื่น 14%

“งานวิจัยนี้ระบุว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นการประกันภัยภาคบังคับมีหลักไม่กำไร ไม่ขาดทุน แต่ผลกำไรของบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้จากประกันภัยประเภทนี้กลับมีสูงถึง 3.3 พันล้านบาท ใน 4 ปี บวกกับปัจจุบันคนไทยมีหลักประกันสุขภาพทุกคน พ.ร.บ.นี้ ไม่น่าจะมีความจำเป็นอีกต่อไป จึงต้องพิจารณาทางเลือกในการปรับปรุงระบบเพื่อให้คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีประกัน”นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในการปรับระบบนี้มี 3 ทางเลือกหลักตามแหล่งเงินของการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ได้แก่ 1.เบี้ยประกันจากเจ้าของรถตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอนุรักษนิยม ทำได้โดยการปรับลดเบี้ยประกันให้มีความเหมาะสม ซึ่งเบี้ยประกันปัจจุบันสามารถลดลงได้ไม่น้อยกว่า 35% รวมทั้งปรับประสิทธิภาพของการบริหารเพื่อให้การคุ้มครองรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายการบริหารต้องไม่เกิน 10% และปรับประสิทธิภาพการจ่ายสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยที่เกิดจากรถที่ไม่มีประกันด้วย

“ระดับปฏิรูปเล็กน้อย โดยการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้บริษัทประกันวินาศภัยจัดเก็บเบี้ยประกัน และระดับปฏิรูปใหญ่ แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยมอบหมายให้กรมการขนส่งเป็นผู้จัดเก็บเบี้ยประกันพร้อมกับการต่อทะเบียนรถยนต์ โดยทั้ง 2 แบบ จะต้องส่งเบี้ยประกันที่จัดเก็บได้หลังหักค่าใช้จ่ายส่งให้ สปสช.ดำเนินการจ่ายทดแทนผู้ประสบภัยทุกคน โดยให้สปสช.บริการรายจ่ายกรณีค่ารักษาพยาบาล ส่วนกรณีทุพพลภาพและตายอาจมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการ” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า 2.ใช้ภาษีทั่วไป โดยการยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แล้วขยายอัตราเหมาจ่ายรายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองให้ครอบคลุมรายจ่ายกรณีอุบัติภัยจากรถ ส่วนกรณีผู้ประสบภัยจากรถอยู่ในสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการหรือประกันสังคมให้ครอบคลุมในส่วนนั้น ตามเงื่อนไขกรมบัญชีกลางและสปส.

และ 3.ใช้ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง โดยยกเลิก พ.ร.บ.นี้ แล้วเก็บภาษีน้ำมัน โดยเก็บจากน้ำมันออกเทน 95 สูงกว่าน้ำมันชนิดอื่น ภาษีที่เก็บได้นำส่ง สปสช.ให้ สปสช.บริการรายจ่ายกรณีค่ารักษาพยาบาล ส่วนกรณีทุพพลภาพและตายอาจมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ดำเนินการ ซึ่งทางเลือกที่นักวิชาการส่วนใหญ่สนับสนุนมากที่สุดเป็นทางเลือกที่1ในส่วนของการปฏิรูปใหญ่ เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการบริหารจัดเก็บต่ำ ไม่มีรายจ่ายค่าการตลาด ค่าบริการจัดการไม่สูง เพราะ สปสช.และ สปส.มีระบบพร้อมในการดำเนินงาน ส่วนการเก็บภาษีน้ำมันในภาวการณ์เช่นนี้ไม่มีความเหมาะสม

“หากรัฐมนตรีสนใจที่จะนำการศึกษาเรื่องนี้ไปใช้ประกอบในการพิจารณาก็พร้อมเข้าให้รายละเอียด และเป็นธรรมดาที่เมื่อมีการเปลี่ยนระบบจะเกิดการคัดค้านจากผู้ได้ประโยชน์เดิม แต่ส่วนตัวเห็นว่าเป็นนโยบายที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก หากรัฐบาลทำได้จะเป็นการแสดงถึงภาวะผู้นำของผู้บริหารประเทศ ที่สำคัญจะไม่กระทบกับธุรกิจประกันภัย เพราะไม่ใช่รายได้หลักของบริษัทเหล่านี้”นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขอสนับสนุนนายวิทยา ในการปรับการบริหารกองทุนผู้ประสบอุบัติภัยจากรถ เพราะทุกวันนี้บริษัทประกันภัยได้เงินไปปีละ 3,500 ล้านบาท จากเงินที่ชาวบ้านต้องจ่ายทำประกันภัยรถจำนวนปีละ 7,000 ล้านบาท ส่วนโรงพยาบาลต่างๆ ได้รับเงินเพียง 50% เพราะผู้ป่วยจะแจ้งว่า หกล้มบ้าง ตกบันไดบ้าง เนื่องจากไม่อยากไปเอาบันทึกประจำวันจากตำรวจ บางคนขอใช้สิทธิข้าราชการ ประกันสังคม แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะยอมเสียเงินเอง เพราะลำบากที่ต้องเดินทางไปเบิกในตัวจังหวัด ประกอบกับการเบิกเงินจากบริษัทประกันภัยมักจะล่าช้า ใช้เวลาถึง 2 เดือนจึงจะได้

“บริษัทประกันภัยรถควรหยุดเอาเปรียบประชาชนได้แล้ว เวลาทำประกันภัย ไปทำถึงหมู่บ้าน เวลาเบิกใช้หลักฐานยิบย่อย และให้ไปเบิกที่จังหวัด ควรใช้ภาษีน้ำมันมาใช้ในส่วนนี้ ชาวบ้านไม่ต้องเสียเวลาไปต่อประกันภัย โรงพยาบาลก็ได้เงินครบ ขอให้รัฐมนตรี สธ.เอาจริงกับเรื่องนี้ อย่าให้แค่พูดแล้วหายไป เพียงแค่มีคนเสียผลประโยชน์มาล็อบบี้” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น