xs
xsm
sm
md
lg

ดัน สกศ.เป็นเจ้าภาพจับมืออุดมฯ-อาชีวะวางแผนผลิตบัณฑิตแก้คนล้นงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สุเมธ” เสนอ สกศ.เป็นเจ้าภาพจับมือ สกอ.-สอศ.-สพฐ.กำหนดทิศทางผลิตบัณฑิตแก้ปัญหาคนล้นงาน ชี้ ประเทศไทยขาดการวางแผนการพัฒนาประเทศระยะยาวที่ชัดเจน ทำให้ขาดทิศทางการพัฒนากำลังคนด้วย เสนอใช้โจทย์การพัฒนาประเทศตั้งในการผลิตบัณฑิตไม่ใช่เอาการศึกษาเป็นตัวตั้ง
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวในการอบรม เรื่อง “นโยบายการศึกษากับการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ”แก่ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การวางแผนกำลังคนของไทยในปัจจุบันประสบปัญหาความสมดุลในการผลิตและการใช้ จึงเกิดการขาดแคลนกำลังคนในระดับกลาง และสูงในบางสาขา รวมถึงประสบปัญหาคนล้นงานในบางสาขา ขณะเดียวกัน ก็ขาดแคลนคนในสาขาที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนต้องใช้เวลา 3-6 ปีจึงจะได้ทรัพยากรบุคคลตามที่วางแผน เพราะเราไม่สามารถดำเนินการผลิตกำลังคนให้ตลาดแรงงานได้ทันทีที่มีความต้องการ

“ปัญหาของเราขณะนี้ คือ เราขาดเจ้าภาพที่จะมองภาพทิศทางการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และขาดทิศทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีรัฐบาลไหนมุ่งวางแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว และเกาะติดกับทิศทางของภูมิภาคและของโลก เมื่อเราขาดทิศทางการพัฒนาประเทศก็ทำให้เราไม่สามารถกำหนดทิศทางการผลิตและพัฒนากำลังคนได้ ผมจึงขอเสนอให้ สกศ.เป็นเจ้าภาพในการจัดการเรื่องนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนากำลังคนของประเทศให้ชัดเจนว่าเราควรจะดำเนินนยโยบายอย่างไรต่อไป” ดร.สุเมธ กล่าว

เลขาธิการ กกอ.กล่าวอีกว่า การเป็นเจ้าภาพของ สกศ.นั้น ไม่ได้หมายความว่า ให้ สกศ.กำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ แต่ให้ทำแผนอุปทาน (Supply Push) ในการผลิตกำลังคนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ให้ชัด เมื่อเราผลิตกำลังคนออกสู่ตลาดตามแผนอุปทานแล้ว กลุ่มผู้ใช้กำลังคนจะบอกเองว่ากำลังคนที่เราผลิตออกไปนั้นเหมาะสมหรือไม่ แล้วจึงค่อยปรับแผนการผลิตตามความต้องการของตลาด ซึ่งหากทำได้จะช่วยในการผลิตบัณฑิตของ สอศ.และ สกอ.อย่างมาก ที่สำคัญ การจัดการศึกษาที่ผ่านมาเป็นไป เพื่อการพัฒนาระบบการศึกษาเองมากกว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ดังนั้น การวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนควรเอาโจทย์ใหญ่ คือ ทิศทางการพัฒนาประเทศมาเป็นตัวกำหนดการผลิตบัณฑิตในแต่ละสาขา มากกว่าที่เราจะเอาเรื่องการศึกษาเป็นตัวตั้งในการวางแผนผลิตกำลังคน
กำลังโหลดความคิดเห็น