กระทรวงสาธารณสุข ปรับเพิ่มพื้นที่เสี่ยงไข้หวัดนกในคนอีก 14 จังหวัด พร้อมติวเข้มมิสเตอร์ไข้หวัดนกในพื้นที่ จับตาโรคไข้หวัดนกในสัตว์และในคนอย่างใกล้ชิด เน้นการค้นหาสอบสวนโรคที่รวดเร็ว ตรวจวินิจฉัยแม่นยำ และพร้อมให้การดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (16 ม.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารและมิสเตอร์ไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยง 14 จังหวัด จำนวน 200 คน เพื่อเร่งรัดการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและการดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคไข้หวัดนกยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ใน 61 ประเทศทั่วโลก เชื้อมีโอกาสแพร่กระจายระหว่างภูมิภาค หากไม่มีการควบคุมโรคที่ดี ก็อาจนำไปสู่การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดจากการผสมของเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคน โดยสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนของไทย ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย รายสุดท้ายพบเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า แม้ไทยจะปลอดจากโรคไข้หวัดนกในคนมากว่า 2 ปี แต่จากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งทำให้การกำจัดเชื้อเป็นไปได้ยาก รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกในคนได้อีก จึงต้องควบคุมป้องกันอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารทุกระดับทุกพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญและดูแลอย่างเต็มที่ หากมีสัตว์ปีกติดเชื้อจะต้องป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อหรือป่วย และหากมีผู้ป่วยต้องดูแลรักษาไม่ให้เสียชีวิต โดยประสานการทำงานกับปศุสัตว์และฝ่ายปกครองในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
ด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีนี้กรมควบคุมโรคได้ปรับเกณฑ์จังหวัดพื้นที่เสี่ยงโรคไข้หวัดนกใหม่ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมในการควบคุมเฝ้าระวังโรค ได้แก่ จังหวัดที่มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2547-2551 จังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงซ้ำซากของกรมปศุสัตว์ และจังหวัดที่เคยมีความเสี่ยงรองลงมาของกรมปศุสัตว์และมีผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกมากที่สุด ซึ่งจะทำให้สามารถจัดการปัญหาได้ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณการระบาด โดยมีจังหวัดที่เข้าข่ายพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก 14 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชัยนาท ปราจีนบุรี นครนายก สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น และหนองบัวลำภู
โดยการประชุมวันนี้ เป็นการทบทวนและเร่งรัดมาตรการต่างๆ ตั้งแต่การค้นหา รายงาน สอบสวนและเข้าควบคุมโรคเบื้องต้นในชุมชนอย่างรวดเร็วและครอบคลุม การเก็บสิ่งส่งตรวจอย่างถูกต้อง และส่งอย่างรวดเร็ว เพื่อการชันสูตรโรคที่แม่นยำ รู้ผลเร็ว การฝึกซ้อมบุคลากรให้มีความชำนาญในการดูแลผู้ป่วย การเตรียมพร้อมสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ คำแนะนำในการป้องกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ทั้งนี้ แผนป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกของไทยขณะนี้อยู่ภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ของชาติ ฉบับที่ 2 มี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การจัดระบบการผลิตและเลี้ยงสัตว์ปีก การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคทั้งในสัตว์และคน การเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ประชาชน ภาคธุรกิจและนานาประเทศ