xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ตั้งเป้ารักษาวัณโรคขาดภายใน 6 เดือน สั่ง อภ.เดือนหน้าทำยารวม 4 ชนิด 1 เม็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
สธ.จัดระบบรักษาผู้ป่วยวัณโรคหายขาดใน 6 เดือน ตั้งเป้าปีนี้ 60,000 ราย ให้ อสม.ทุกหมู่บ้าน ร่วมค้นหากำกับกินยา พร้อมให้ อภ.ผลิตยารวมตัวยา 4 ชนิดและ 2 ชนิด ในเม็ดเดียวให้ผู้ป่วยกินง่าย โอกาสหายขาดสูง สปสช.สนับสนุนงบ 230 ล้านบาท

วันนี้ (15 ม.ค.) ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง สาธารณสุขอำเภอ มิสเตอร์ทีบี และอสม.ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 800 คน เพื่อพัฒนาศักยภาพ อสม.ในการตรวจค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในหมู่บ้าน และการเป็นพี่เลี้ยงดูแลผู้ป่วยวัณโรค จากนั้นเดินทางไปทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังการดำเนินงานควบคุมวัณโรคในเรือนจำ

นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์วัณโรคของประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 18 จาก 22 ประเทศที่มีอัตราป่วยวัณโรคสูงที่สุดในโลก ล่าสุดปี 2551 มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ขึ้นทะเบียนรักษา 18,341 ราย รักษาหาย 15,296 ราย คิดเป็นร้อยละ 83 ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ คือร้อยละ 85 ในปีนี้ได้ปรับยุทธศาสตร์ให้ผู้ป่วยวัณโรคทุกรายกินยารักษาให้หายขาดภายใน 6 เดือน ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าเป็นวิธีป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดได้ผลที่สุด โดยได้รับงบสนับสนุนจากสปสช.จำนวน 230 ล้านบาท เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในชุมชน หมู่บ้านต่างๆ เข้ารักษาให้หายขาด ตั้งเป้า 60,000 ราย ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยรายใหม่ รายเก่า ผู้ป่วยที่เป็นซ้ำ และผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า การรักษาผู้ป่วยวัณโรคสมัยนี้ ใช้เวลาน้อยลงจากเดิม 2 ปี เหลือเพียง 180 วัน โดยในปีนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ผลิตยารักษาวัณโรคแบบยารวม โดยรวมตัวยา 4 ชนิด ในเม็ดเดียวกินวันละ 4 เม็ด จากเดิม 12 เม็ด เพื่อฆ่าเชื้อในเสมหะติดต่อกัน 60 วันหรือจนไม่พบเชื้อในเสมหะ จากนั้นจะลดตัวยาเหลือเพียง 2 ตัวในเม็ดเดียวกัน กินต่ออีก 120 วัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยกินยาได้ง่ายขึ้นมีโอกาสหายขาด ซึ่งจะลดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนอย่างได้ผล ประการสำคัญไทยยังได้ใช้กระบวนการใหม่ ที่จะให้ผู้ป่วยกินยาครบสูตร โดยให้ อสม.เป็นพี่เลี้ยงกำกับการกินยาของผู้ป่วยวัณโรคในชุมชน และให้มิสเตอร์ทีบี ในโรงพยาบาลชุมชนกำกับ อสม.เพื่อให้มีการกำกับการกินยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์การอนามัยโลกสนับสนุนแนวทางไทยเต็มที่

นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า นอกจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับ อสม.ค้นหาผู้ที่มีอาการน่าสงสัยเป็นผู้ป่วยวัณโรค คือ ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เน้นในกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และแรงงานต่างด้าว เมื่อพบจะรักษาด้วยยาให้หายขาด ส่วนในบ้านที่มีผู้ป่วยวัณโรค ควรนำผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง ออกตากแดด เชื้อโรคจะตายภายใน 2 ชั่วโมง

ด้านนพ.รัตนชัย จุลเนตร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าปี 2551 จ.พระนครศรีอยุธยา พบผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภท 633 ราย คิดเป็นอัตราป่วยประชากรแสนละ 84 คน คาดว่าจะมีเป็นผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ระยะแพร่เชื้อ 471 ราย แต่ค้นพบเพียง 307 ราย ดังนั้นจึงมีผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อแอบแฝงอยู่ในชุมชน จึงต้องเร่งรัดดำเนินการค้นหาต่อไป โดยตลอดปี 2552 จะจัดรณรงค์ตรวจคัดกรอง รักษาผู้ป่วย และดำเนินการควบคุมโรค ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของจังหวัด เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรค
กำลังโหลดความคิดเห็น