xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.ระนองเร่งควบคุมวัณโรคในกลุ่มแรงงานต่างด้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระนอง - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง เร่งแก้ไขปัญหาวัณโรคปอด ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ชาวพม่า เพื่อป้องกันการระบาดสู่คนไทย ด้านองค์การอนามัยโลก จัดลำดับเป็น 1 ใน 22 ประเทศ ที่มีผู้ป่วยเกิดใหม่ ประมาณการถึง 90,000 ราย

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จังหวัดระนองเป็นจังหวัดชายแดนมีชาวพม่าเดินทาง หรืออพยพเข้ามาทำงานในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ถูกกฎหมาย และลักลอบเข้าเมือง มีสภาพความเป็นอยู่อย่างแออัดไม่ถูกหลักสุขาภิบาล ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ ประกอบกับมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค ในปี 2551 ที่ผ่านมา มีชาวพม่าป่วยเป็นวัณโรคปอด 74 ราย เข้ารับการรักษาจนหายขาดเพียง 54 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่สามารถติดตามให้มารับการรักษาได้ ดังนั้น ชาวพม่าเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้ และทำให้เกิดการดื้อยา จึงเป็นปัญหาใหญ่ในการควบคุมโรควัณโรค

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวต่อไปว่า เพื่อแก้ไขปัญหาวัณโรคปอดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว และป้องกันการระบาดสู่คนไทย จึงกำหนดมาตรการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่จังหวัดระนอง ให้เข้ารับการรักษาโดยเร่งด่วน โดยขอความร่วมมือนายจ้างที่มีแรงงานชาวพม่าให้ความร่วมมือส่งแรงงานต่างด้าว ที่มีอาการไอเรื้อรังเข้ารับในการตรวจคัดกรองเสมหะ และรับการรักษา

โดยการกินยาต่อเนื่อง 180 วันก็สามารถรักษาวัณโรคให้หายขาดได้ นอกจากนี้ประชาชนท่านใดมีอาการไอติดต่อนานเกิน 3 สัปดาห์ ไอมีเลือดออก ไอเจ็บหน้าอก มีอาการอ่อนเพลีย ผอม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่าย เหงื่อออกตอนกลางคืน ขอให้ผู้ที่มีอาการสงสัยดังกล่าว และผู้ใกล้ชิดมารับการตรวจเสมหะ และรักษาได้ ที่โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดระนอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ควรใช้หน้ากากอนามัยปิดปาก และจมูก เพื่อป้องกันการรับ และแพร่เชื้อ โรคติดต่อทางเดินหายใจ และโปรดจำไว้ว่า “วัณโรครักษาหายได้ ถ้ากินยาครบ”

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวด้วยว่า ปัญหาวัณโรคในประเทศไทย ได้ถูกองค์การอนามัยโลก จัดลำดับเป็น 1 ใน 22 ประเทศ ที่มีผู้ป่วยวัณโรคเกิดใหม่ ซึ่งประมาณการว่า มีจำนวนถึง 90,000 ราย โดยครึ่งหนึ่งเป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ หากไม่สามารถควบคุมผู้ป่วยดังกล่าวได้จะเกิดการแพร่เชื้ออย่างกว้างขวาง กระทรวงสาธารณสุข จึงกำหนดให้วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น