xs
xsm
sm
md
lg

คุรุสภาเสนอ “มาร์ค” พัฒนาวิชาชีพครู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุรุสภาชงยุทธศาสตร์พัฒนาวิชาชีพครูให้ "อภิสิทธิ์"หวังให้ช่วยผลักดันพัฒนาอาชีพครูให้เป็น "วิชาชีพ" เสนอรัฐจัดงบให้ทุนนักเรียนครูปีละ 700 ล้านบาทต่อเนื่องสร้างครูเลือดใหม่

ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่า หลังจาก พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มีผลบังคับใช้ คุรุสภาได้พยายามดำเนินการให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง แต่มีอุปสรรคสำคัญ คือ คุณภาพของสมาชิกวิชาชีพยังไม่สูงขึ้นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะนักเรียนครูส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนชั้น ม.6 ที่ไม่สามารถเลือกเรียนคณะอื่นได้ คณาจารย์ก็หาบุคคลชั้นเยี่ยมได้เพียงน้อยนิด อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่ทันสมัย การวัดและประเมินผลยังเน้นข้อสอบปรนัย บัณฑิตครูจบแล้วไม่มีงานทำเพราะผลิตเกินความต้องการของโรงเรียน รายได้ครูไม่เพียงพอ นอกจากนี้ครูประจำการจำนวนมากยังปฏิบัติหน้าที่ได้ต่ำกว่ามาตรฐานของวิชาชีพชั้นสูง

ประธานกรรมการคุรุสภา กล่าวอีกว่า การทำให้อาชีพครูเป็นวิชาชีพครูได้ต้องทำ 2 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์แรก การให้ทุนและจำกัดจำนวนนักเรียนครูที่จะรับเข้าศึกษาในแต่ละปี และยุทธศาสตร์ที่สอง การจัดหลักสูตรฝึกอบรมครูที่ตรงกับภารกิจแต่ละวันของครู ดังนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ตนจึงได้ส่งหนังสือเรื่องการพัฒนาวิชาชีพครู พร้อมทั้งแผนยุทธศาสตร์และทิศทางการดำเนินงาน ไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อให้ช่วยสนับสนุนและผลักดันให้อาชีพครูเป็นวิชาชีพครูที่แท้จริง

ดร.ดิเรก กล่าวต่อไปว่า ในยุทธศาสตร์แรก รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ต้องจัดสรรทุนให้แก่นักเรียนครูในแต่ละปีเท่ากับจำนวนครูที่หน่วยงานผู้ใช้ครูจะต้องบรรจุในอีก 5 ปี ข้างหน้า โดยประมาณ 7,000 ทุน ทุนละ 1 แสนบาทต่อปี หรือปีละ 700 ล้านบาทต่อเนื่อง ซึ่งจะใช้งบประมาณเพียงหลักสูตรละ 3,500 ล้านบาท เมื่อเรียนครบ 5 ปี และเพื่อให้หน่วยงานทางการศึกษาบรรจุนักเรียนทุนได้โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก ศธ.ควรเสนอแก้กฎหมายเพื่ออนุญาตให้หน่วยงานทางการศึกษาบรรจุบัณฑิตครูที่เป็นนักเรียนทุน และให้นักเรียนทุนที่สำเร็จหลักสูตรการผลิตครูประถมศึกษาได้รับใบอนุญาตประกอบการสอนในระดับประถมศึกษา ส่วนนักเรียนทุนที่สำเร็จหลักสูตรการผลิตครูคณิตศาสตร์ เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ภาษาไทย ฯลฯในระดับมัธยมศึกษาก็ให้ได้รับใบอนุญาตประกอบการสอนในระดับมัธยมศึกษาตามแต่กรณี และหลังการบรรจุเข้ารับราชการครู ศธ.ต้องติดตามผลการปฏิบัติงานนักเรียนทุนอย่างใกล้ชิด หากดำเนินการดังกล่าว เราก็จะได้ครูดีเพิ่มขึ้นปีละ 7,000 คนและภายใน 15-20 ปี โรงเรียนในประเทศไทยก็จะมีแต่ครูเยี่ยมๆ นักเรียนไทยและคนไทยในอนาคตก็จะมีแต่คนเยี่ยมๆ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็จะเพิ่มสูงขึ้น

นายดิเรก กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การจัดหลักสูตรฝึกอบรมครูที่ตรงกับภารกิจแต่ละวันของครู ในการแก้ปัญหาระยะสั้นและเฉพาะหน้า ศธ. หน่วยงานผู้ผลิตครู สถาบันพัฒนาครู และหน่วยงานผู้ใช้ครูควรพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาครูระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาแยกจากกัน โดยการพัฒนาครูระดับประถมศึกษาควรเน้นความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพครู เช่น การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนวิชาต่างๆ ในระดับประถมศึกษา การบริหารจัดการชั้นเรียน เป็นต้น ส่วนการพัฒนาครูระดับมัธยมศึกษาควรเน้นที่การเพิ่มความรู้และเทคนิคการสอนวิชาต่างๆที่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาครูเกิดผลดี ผู้ประสงค์จะจัดกิจกรรมพัฒนาครูต้องนำเสนอหลักสูตรพัฒนาครูให้ ศธ.ให้ความเห็นชอบก่อนก และต้องมีการประเมินและให้การรับรองสถาบันพัฒนาครู สถาบันพัฒนาครูสถาบันใดไม่ดำเนินการตามหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ศธ.ต้องเพิกถอนสิทธิการให้การพัฒนาครูของสถาบันนั้นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น