xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ยันต้องรื้อทิ้งซานติก้า เผย 15 วันรู้สาเหตุ ผงะ 2 พันอาคารไม่ยื่นผลตรวจความปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังลำเลียงศพผู้เสียชีวิตจากกรณีเพลิงไหม้ซานติก้าผับ เอกมัย เมื่อค่ำคืนวันที่ 1 มกราคม
กทม.สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบ-แก้ไขความปลอดภัยการใช้อาคารเป็นกรณีพิเศษในพื้นที่เมืองกรุง ปลัดกทม.ยันต้องรื้อทิ้งซานติก้าเพื่อความปลอดภัย พร้อมทำบุญใหญ่ 3 ศาสนาพุทธ-คริสต์-อิสลาม 7 ม.ค.นี้ที่ผับมรณะ เผยต้องแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมอาคารกำจัดจุดอ่อน ขณะที่ปธ.กก.สอบเหตุเพลิงไหม้ยัน 15 วันรู้ผล ตะลึง 2,000 อาคารทั่วกรุงยังไม่ยื่นผลตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร พร้อมเปิดอบรมเจ้าของอาคารย่านธุรกิจเตรียมรับมือหากเกิดเหตุ

นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ซานติก้า ผับ และอาคารเสือป่า พลาซ่า โดยมีวาระเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความปลอดภัยอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยนายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและแก้ไขด้านความปลอดภัยการใช้อาคารเป็นกรณีพิเศษ เพื่อตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยของอาคาร สถานบันเทิง หอพัก โรงแรม ห้างสรรพสินค้า รวมถึงอาคารที่มีประชาชนรวมกลุ่มเป็นจำนวนมาก โดยจะมีรองปลัด กทม.เป็นประธานในแต่ละเขตกลุ่มโซน โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) สำนักการโยธา (สนย.) และเขต จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น อุปกรณ์ดับเพลิง สัญญาณไฟฉุกเฉิน ทางหนีไฟ เป็นต้น รวมทั้งให้ สปภ.เชิญกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ พร้อมทั้งแจกคู่มือตรวจสอบความปลอดภัย รวมทั้งแนะอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับป้องกันเหตุเพลิงไหม้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

สำหรับการตรวจสอบโครงสร้างซานติก้าผับว่ามีการต่อเติมอาคารไปจากที่ขออนุญาตก่อสร้างหรือไม่นั้น ขณะนี้ตนรอเอกสารต่างๆ จากทางเขตวัฒนาอยู่ ทั้งนี้ ภายในตัวอาคารเกิดการเผาไหม้ไปจนกระทั่งหลักฐานต่างๆ สูญหายไปเกือบหมดแล้ว ขณะที่โครงสร้างของอาคารนั้นจำเป็นจะต้องรื้อทิ้งทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า กทม.ยังคงดำเนินการตรวจสอบอาคารไปจนถึงตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในอาคารเป็นประจำอยู่แล้ว ขณะที่ สปภ.ก็จะมีแผนการตรวจสอบอาคารหรือตึกสูงประจำปีเช่นเดียวกัน หากตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการรายไม่ดำเนินการ ก็จะแจ้งเตือนพร้อมทั้งให้แก้ไขให้ถูกต้อง แต่หากพบว่ายังมีการฝ่าฝืนไม่แก้ไขให้ถูกต้อง กทม.ก็จะดำเนินการตามกฎหมายโดยการสั่งปิดทันทีจนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง

“สิ่งที่เกิดขึ้น กทม.ไม่ได้ทำแบบวัวหายแล้วล้อมคอก เพราะที่ผ่านมา กทม.ได้ให้ข้อมูล คำแนะนำพร้อมทั้งลงไปตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อจากนี้ไปอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะเรื่องของชีวิตคนที่จะละเลยไปไม่ได้ โดยในช่วงเดือน ก.พ.จะถึงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะต้องมีการจุดธูปไหว้เจ้า ได้สั่งการให้ทุกเขตออกไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ด้วย เพราะล่อแหลมและเกิดไฟไหม้เกือบทุกครั้ง” นายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวและว่า ในวันที่ 7 ม.ค.นี้ เวลา 13.00 น. กทม.จะจัดพิธีกรรมทางศาสนาทั้ง 3 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์และอิสลามบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ซานติก้า ผับ โดยจะเชิญญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต ร่วมทำบุญเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจของผู้ที่มีชีวิตอยู่ให้กลับมา

นายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวถึงกรณีที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ออกมาระบุว่าเป็นเพราะ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ของ กทม.ที่ยังมีช่องโหว่อยู่และจำเป็นต้องแก้ไขว่า ตนพร้อมทั้ง สนย.ได้เข้าไปชี้แจงในประเด็นดังกล่าวกับท่านรัฐมนตรีแล้ว โดย กทม.ยอมรับว่าจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจริง เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีจุดอ่อน เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์และต่อสู้คดีในชั้นศาล จนกลายเป็นช่องโหว่ให้มีการขยายเวลารื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างไม่ถูกต้องออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวขึ้น ทั้งนี้ ตนจะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อรายงานให้ ครม.ทราบทันที

ด้านนายชาตินัย เนาวภูติ ผอ.สนย.กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบและแก้ไขด้านความปลอดภัยการใช้อาคาร กรณีเหตุเพลิงไหม้สถานบันเทิงซานติก้า ผับ และอาคารเสือป่าพลาซ่า เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 ม.ค.) ตนได้เรียกประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรก ที่สำนักการโยธา โดยจะวางกรอบแนวทางการดำเนินการตรวจสอบ มาตรการรักษาความปลอดภัยของอาคาร โดยเฉพาะการปฏิบัติตามกฎหมาย การขออนุญาตและการใช้อาคาร ซึ่งอาจจะต้องเชิญเขตมาสอบถามข้อมูล และจะพิจารณาว่าจะต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องคนใดมาให้ข้อมูลบ้าง ทั้งนี้จะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

นายชาตินัย กล่าวต่อว่า ส่วนการตรวจสอบอาคารต่างๆ ในพื้นที่ กทม.นั้น ก่อนหน้านี้ได้มีกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบอาคาร มาตรา 32 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้เจ้าของอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน และอาคาร 9 ประเภทตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น โรงมหรสพ โรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป อาคารโรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้นและมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป เป็นต้น ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคาร ทำการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของอาคารระบบและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง กฎกระทรวงกำหนด มีกฎกระทรวงออกมาตั้งแต่ปี 2548 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2550 แต่ปรากฏว่าเจ้าของอาคารในพื้นที่ กทม.ที่มีกว่า 5,900 อาคาร ยื่นรายงานตรวจสอบอาคารมาที่ กทม.แล้วจำนวน 3,000 กว่าราย และไม่ยื่น 2,000 กว่าราย ขณะนี้สำนักการโยธาได้รวบรวมข้อมูลและแจ้งไปยังสำนักงานเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ดำเนินการส่งฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีทางแพ่งและอาญากับอาคารที่ฝ่าฝืน โดยในพื้นที่เขตฝั่งธนบุรี สนย.สามารถส่งให้เขตครบถ้วนแล้วเพราะมีอาคารตั้งอยู่ไม่มาก แต่ในพื้นที่พระนครมีอาคารจำนวนมากอยู่ระหว่างทยอยส่งเรื่องไปตามเขตต่างๆ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ทั้ง 50 เขต ยังไม่สามารถส่งฟ้องศาลได้แม้แต่รายเดียว

ผอ.สำนักการโยธา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้อยากขอความร่วมมือกับเจ้าของอาคารให้รีบปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว เพราะหากรีบดำเนินการจะต้องเจอโทษหนัก คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นการปรับรายวันๆ ละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังเป็นกฎหมายใหม่ ประชาชนอาจยังไม่เข้าใจ มาตรการดังกล่าวอาจผ่อนผันได้ ซึ่ง กทม.จะขอหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองก่อน นอกเหนือจากการยื่นตรวจสอบอาคารประจำปีด้วย

ขณะที่ นายธนู ศรีคช รอง ผอ.สำนักการโยธา กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 9 ม.ค. เวลา 14.00 น. นี้ นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองปลัด กทม. จะเป็นประธานเปิดอบรมความปลอดภัยอาคารกับกลุ่มกรุงเทพใต้ จำนวน 11 เขต ประกอบด้วย เขตปทุมวัน บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย วัฒนา พระโขนง สวนหลวง บางนา และเขตประเวศ โดยเชิญเจ้าของอาคารกว่า 900 ราย มาแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันอาคาร และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัย โดยจัดขึ้นที่หอประชุมคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กำลังโหลดความคิดเห็น