xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ มช.เผยพฤติกรรมความรุนแรงทำให้ผลการเรียนเด็กตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิปนักเรียนตบกันที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ (ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต)
นักวิชาการ ม.เชียงใหม่ ระบุพบความรุนแรงในโรงเรียนทั้งจากครูสู่นักเรียน และนักเรียนกระทำต่อกัน ชี้ข่าว ละคร โฆษณากระตุ้นให้เกิดความรุนแรงกลายเป็นพฤติกรรมการเลียนแบบลุกลามเหมือนโรคระบาด เผยความรุนแรงทำให้ผลการเรียนตกต่ำลง และเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงตาม

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผู้ขับเคลื่อนประเด็น “โรงเรียนปลอดความรุนแรง”โดยความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในโรงเรียนว่า มีรูปแบบที่เห็นได้ชัดอย่างน้อย 3 แบบ คือ ความรุนแรงจากครูสู่นักเรียน ความรุนแรงจากนักเรียนด้วยกันเอง และความรุนแรงในรูปแบบการทะเลาะวิวาท และสิ่งเร้าที่มากระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเหล่านี้ ได้แก่ ความรุนแรงที่เกิดในสื่อ ทั้งข่าว ละคร โฆษณา ภาพยนตร์ วิดีโอเกมฯลฯ จนกลายเป็นวัฒนธรรมเหมือนโรคระบาด เกิดการเลียนแบบและนำความรุนแรงสู่ครอบครัว ชุมชน และคนในสังคม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับความสนใจแก้ไขอย่างเป็นระบบ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา
คลิปนักเรียนตบกันที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ (ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต)
“ผลกระทบจากความรุนแรงเหล่านี้ที่เห็นชัดที่สุด คือ ระบบการเรียนรู้ สมองจะตื่นเต้น กังวล หวาดกลัว จะทำให้ขาดสมาธิ และจะเห็นชัดว่าหากระดับความรุนแรงในโรงเรียนสูงขึ้น ผลการเรียนของเด็กก็ต่ำลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่องพฤติกรรมความรุนแรงในโรงเรียน ครอบครัว ชุมชน ที่พบว่า บรรยากาศที่ก้าวร้าวก็ทำให้เด็กก้าวร้าวตาม เกิดเป็นค่านิยมและถ่ายทอดกันไปรุ่นต่อรุ่นได้” ผศ.ดร.สมบัติ กล่าว

อาจารย์ มช.กล่าวอีกว่า เด็กในครอบครัวที่ร่ำรวยก็จะพบเจอความรุนแรงในครอบครัวและโรงเรียนเช่นกัน เพียงแต่เด็กที่อยู่ในสภาพด้อยโอกาสอาจมีความเสี่ยงมากกว่าเพราะขาดเครือข่ายทางสังคมคอยค้ำจุนช่วยเหลือ ซึ่งความรุนแรงเหมือนเนื้อร้ายที่ซ่อนอยู่ภายใน เรามักมองไม่ค่อยเห็นจนกว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น เช่น นักเรียนเสียชีวิต จึงจะตื่นตัว พอเรื่องเงียบไปทุกอย่างก็ดำเนินไปเหมือนเดิม นักเรียนที่ถูกลงโทษรุนแรง ถูกข่มเหง รังแก ก็ต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป เป็นสภาพที่พบบ่อยเช่นเดียวกับปัญหาทารุณกรรมอื่นๆ ซึ่งการแก้ไขที่ผ่านมาเป็นระยะสั้นๆ เท่านั้น
คลิปนักเรียนตบกันที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ (ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต)
ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวต่อไปว่า ปัญหานี้แก้ไข และป้องกันได้ แต่ผู้ใหญ่ต้องไม่นิ่งดูดาย และเอาจริง ต้องทำงานด้านนี้ให้ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เราคิดแต่เอาเด็กไปบำเพ็ญประโยชน์ เช่น ทำความสะอาด ไปดื่มน้ำสาบาน นั่งสมาธิ เข้าค่ายทหาร แต่โครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมก็ยังเอื้อต่อความรุนแรงอยู่ สภาพในโรงเรียนและชุมชนไม่เปลี่ยน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การแก้ต้องแก้เป็นระบบ เปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมในครอบครัว โรงเรียน ชุมชนให้ไม่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรง มีการเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง ในระดับนโยบายต้องรู้ทันค่านิยมที่ส่งเสริมความรุนแรง แล้วส่งเสริมให้ถูกทาง

“ทุกวันนี้เด็กแข่งขันกันมาก นำไปสู่ความเห็นแก่ตัว และเกิดความก้าวร้าวรุนแรง เราลดการแข่งขันลงได้ไหม เน้นการช่วยเหลือร่วมมือกันได้ไหม ส่วนชุมชนต้องลงทุนให้การศึกษาแก่ประชาชนมากขึ้น ให้เข้าใจถึงความเสียหายที่จะเกิด แล้วดึงให้คนหันมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ผู้นำชุมชนก็ควรสร้างโอกาสหรือธรรมเนียมการปฏิบัติให้คนช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันมากขึ้นเพื่อเยาวชนจะได้ซึมซับเอาค่านิยมเช่นนี้ไป”ผศ.ดร.สมบัติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น