xs
xsm
sm
md
lg

“จันทร์จ๋า หวานน้อยหน่อย” โครงการดีเพื่อขจัดภัยหวาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุดสาธิตไม่กินหวาน ดื่มน้ำผลไม้หวานน้อยเพื่อสุขภาพ
ปัจจุบันเยาวชนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคที่น่าเป็นห่วง สืบเนื่องจากการรับประทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ ทั้งขนมกรุบกรอบ ขนมหวาน น้ำอัดลม ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณสูง เป็นเหตุให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย เริ่มจากโรคฟันผุ และอาจลุกลามขึ้นเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจในระยะยาว

จากสภาวะความเสี่ยงต่อโรคที่อาจเกิดขึ้น และสถิติการเข้ารับการรักษาโรคเหงือกและฟันในกลุ่มเด็กที่ได้เฝ้าติดตามมาโดยตลอด กลุ่มงานทันตสาธารณสุข กองทันตสาธาณสุข และสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองสุรินทร์ จึงจัดทำ “โครงการเด็กสุรินทร์อ่อนหวาน” เพื่อกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนรวมไปถึงผู้ปกครองตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายจากความหวานโดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทพ.ญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สสส.เปิดเผยว่า การปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ถูกต้องให้เกิดกับเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืนนั้นต้องใช้วิธีสอนเด็กให้เกิดการเรียนรู้ วิเคราะห์ถึงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารแต่ละประเภทที่บริโภคในแต่ละมื้อ โดยเฉพาะผลร้ายที่เกิดจากการบริโภคขนมหวาน ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกาย โดยเมื่อเด็กได้เรียนรู้ก็จะเกิดความตระหนักด้วยตนเอง
ทพ.ญ.พุทธรักษา เงยวิจิตร
คณะทำงานงาน “โครงการเด็กสุรินทร์อ่อนหวาน” จึงจับมือกับโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์ ร่วมกันทำกิจกรรม “จันทร์จ๋า...หวานน้อยหน่อย” โดยเน้นให้เด็กนักเรียนลดการบริโภคน้ำตาลในอาหารทุกประเภทในทุกวันจันทร์ รวมทั้งจัดกิจกรรมเสริมต่างๆ ให้แก่เด็กๆ เพื่อให้เกิดเรียนรู้และเข้าใจถึงพิษภัยจากการกินหวาน รวมทั้งมีการให้ความรู้และการตรวจสุขภาพในช่องปากและฟันโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ

ทพ.ญ.พุทธรักษา เงยวิจิตร หรือ “คุณหมอน้ำค้าง” ทันตแพทย์ประจำกองทันตสาธาณสุข และสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองสุรินทร์ เปิดเผยว่า เด็กๆ ที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์กว่าร้อยละ 60 ประสบปัญหาโรคเหงือกอักเสบและฟันผุ อันมีสาเหตุจากพฤติกรรมการบริโภคของเด็กที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์หรือโทษของขนม รวมทั้งขาดการแนะนำจากผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด ไม่รีบหาทางป้องกันจะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นได้ในอนาคต

“จันทร์จ๋า...หวานน้อยหน่อย เป็นกิจกรรมที่ร่วมกับโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์ จำนวน 3 แห่ง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ทุกวันจันทร์ทางโรงเรียนจะให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณต่ำหรือไม่มีเลย งดการให้ขนมหวานเป็นของว่างโดยเปลี่ยนเป็นผลไม้แทน อีกทั้งคณะทันตแพทย์จะเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพในช่องปากผ่านกิจกรรมที่สนุกสนาน เช่น ตอบคำถามชิงรางวัล สอนการอ่านฉลากขนม รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับคุณและโทษจากการกินหวานอีกด้วย” คุณหมอน้ำค้าง กล่าว

โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ สังกัดเทศบาลเมืองสุรินทร์ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นโรงเรียน 1 ใน 3 ที่ร่วมกิจกรรม “จันทร์จ๋า...หวานน้อยหน่อย” เนื่องจากเห็นความสำคัญของสุขภาพปากและฟันของเด็ก เพราะเคยประสบปัญหาเด็กขาดเรียนเพราะปวดฟัน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 อีกทั้งพ่อแม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาฟัน

นายประภาส สกุลดี ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ เปิดเผยว่า กิจกรรมจันทร์จ๋าฯที่โรงเรียนจัดขึ้น เริ่มจากการงดขายน้ำอัดลมในโรงเรียนอย่างเด็ดขาดทุกวันจันทร์ หลังจากนั้นก็ประกาศเป็นนโยบายงดขายน้ำอัดลมอย่างสิ้นเชิง ส่วนอาหารที่จัดให้เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ก็จะเป็นอาหารที่ใส่น้ำตาลน้อยหรือแทบไม่ใส่เลย

“แรกๆ เด็กก็มีอาการงอแงบ้างแต่ครูจะก็จะอธิบายเหตุและผลผ่านกิจกรรมที่สนุกสนานให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายๆ รวมถึงผลักดันให้รุ่นพี่ในระดับมัธยมศึกษาได้ค้นคว้าหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการไม่กินหวานกลับไปสอนรุ่นน้องอีกด้วย” นายประภาส ระบุ
ทพ.ปองชัย ศิริศรีจันทร์
ด.ญ.ชไมพร ผ่องใส หรือ “น้องแตง” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนเทศบาล 3 ผู้นำนักเรียนด้านส่งเสริมสุขภาพ เล่าว่า ทุกวันจันทร์จะมีการทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ เกี่ยวกับการรณรงค์ไม่กินหวานสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เช่น การประกาศเสียงตามสาย การเล่นเกมตอบคำถาม การไปเล่านิทานไม่กินหวานให้น้องฟังตามห้องเรียน อีกทั้งมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโทษจากการกินหวานไว้ตามจุดต่างๆ ของโรงเรียนอีกด้วย

“นอกจากจะมีการทำกิจกรรมภายในโรงเรียนแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับโทษจากการกินหวานระหว่างโรงเรียนเทศบาลแห่งอื่น หรือที่เรียกว่าโรงเรียนคู่หู โดยจะมีเพื่อนจากโรงเรียนอื่นๆ มาเยี่ยมชมกิจกรรมของเรา แกนนำรักเรียนก็จะทำหน้าที่เป็นไกด์พาเดินชมตามจุดนิทรรศการต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้แลกเปลี่ยนความรู้กันแล้ว ยังทำให้กล้าแสดงออก รวมทั้งเกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนอีกด้วย” น้องแตง กล่าวเสริม

หลังจากที่กิจกรรม “จันทร์จ๋า...หวานน้อยหน่อย” ได้ดำเนินมากว่า 3 ปี พบว่า เด็กๆ มีสุขภาพเหงือกและฟันที่แข็งแรงขึ้น ซึ่งทาง ทพ.ปองชัย ศิริศรีจันทร์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข สนง.สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ เผยว่า หลังจากที่เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนแล้ว ทำให้ปัญหาสุขภาพในช่องปากที่สูงถึงร้อยละ 80 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ซึ่งทางผู้ปกครองก็พอใจ ที่เด็กๆ รู้จักระมัดระวังการบริโภคอาหารต่างๆ ด้วยตนเอง

“ที่สำคัญ เด็กๆ ยังลดความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากการกินหวาน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจที่อาจจะปรากฏขึ้นเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พ่อแม่ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายพาไปรักษาฟันอีกด้วย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ด้านทันตสาธารณสุข ก็มีความสุขกับการทำงานมากขึ้น ไม่ต้องคร่ำเครียดกับการรักษาและแก้ปัญหาเด็กฟันผุดังเช่นที่ผ่านมาเพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การสอนให้เด็กตระหนักถึงพิษภัยจากการกินหวานจึงเป็นการป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดีกว่าการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ” ทพ.ปองชัยกล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น