ปัจจุบันมี ผู้หญิง เป็นจำนวนมาก ที่สามารถก้าวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าในตำแหน่งบริหารระดับสูง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เฉกเช่นเดียวกับผู้ชายอกสามศอก แต่หากเจาะลึกลงไปในบางสายงานอาชีพอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ ถือว่ายังมีน้อยรายที่ยืนหยัดโดดเด่นได้เทียบเท่าผู้ชาย และ เพียงใจ แก้วสุวรรณ รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยรายนั้น ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว
“ตลอดชีวิตการทำงานหลายสิบปี นับตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบันอายุ 58 ปี ล้วนอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์มาโดยตลอด และภูมิใจที่สามารถทำงานในธุรกิจอุตสาหกรรมหนักอย่างเช่นรถยนต์ จนก้าวมาอยู่ในตำแหน่งระดับบริหารได้ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับผู้หญิงอย่างเราๆ”
นั่นคือคำพูดที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความภาคภูมิใจของ เพียงใจ เมื่อได้กล่าวถึงสิ่งที่ผ่านมา พร้อมกับได้เล่าย้อนเส้นทางการทำงานในธุรกิจอุตสาหกรรม ดงเหล็กและ คราบน้ำมัน ว่าเ รียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทางด้านพาณิชย์และการบัญชี แต่ไม่ได้ออกมาทำงานเลยทันที เพราะยังคงเรียนปริญญาโทต่อไปอีก
“จุดพลิกผันมาอยู่ที่ช่วงท้ายๆ ของการเรียน เพราะเห็นเพื่อนๆ ที่เคยเรียนด้วยกันมา ต่างทำการทำงานกันหมดแล้ว จึงมีความรู้สึกอยากจะทำงานและพยายามไขว่คว้าหางานทำบ้าง จนที่สุดได้เข้าทำงานที่บริษัท สยามกลการ จำกัด กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์รายใหญ่ของไทย และขณะนั้นเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์นิสสันด้วย แม้การเรียนปริญญาโทจะเหลือทำ Thesis เพียงตัวเดียว แต่เห็นว่าไม่เป็นไรขอทำงานก่อนดีกว่า”
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในชีวิตการทำงานของเพียงใจ ที่ได้ส่งผลต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้งานแรกจะอยู่ในสายงานบัญชีแต่บทบาทจะเน้นการบริหารจัดการมากกว่า โดยเธอบอกถึงความภาคภูมิใจว่า เป็นผู้มีบทบาทในการนำเทคโนโลยีทันสมัยอย่างคอมพิวเตอร์มาใช้ ซึ่งถือเป็นบริษัทแรกๆ ที่นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในองค์กร เพื่อควบคุมการบริหารอะไหล่รถยนต์
จากนั้นมาเพียงใจก็ทำงานในหลากหลายหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจัดซื้อ ดูแลเครือข่ายการจำหน่าย และอีกหลายๆ อย่าง ขณะเดียวกันตำแหน่งหน้าที่การงานก็ก้าวหน้าเป็นลำดับ จนได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งบริหารระดับผู้จัดการ ซึ่งถือเป็นความภูมิใจเพราะยากที่ผู้หญิงจะได้รับโอกาสเช่นนี้ และที่สำคัญไม่ได้เป็นลูกหลานหรือเครือญาติกับเจ้าของกลุ่มบริษัทสยามกลการแต่อย่างใด
“มีความสุขกับการทำงานที่สยามกลการมาก เนื่องจากมีระบบทำงานและสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงการมีเจ้านายที่ดี ทำให้เราทำงานสบายใจและทุ่มเทให้อย่างเต็มที่”
แม้เพียงใจจะมีความสุขดีกับการทำงานที่สยามกลการ แต่เมื่อหลายๆ อย่าง ได้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับได้มีการตั้ง สถาบันยานยนต์ องค์กรที่มีหน้าที่ดูแลทิศทางและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้เพียงใจตัดสินใจผันชีวิตการทำงานไปอยู่กับสถาบันยานยนต์ โดยรับผิดชอบหน้าที่สายงานการพัฒนาธุรกิจ
“ถือเป็นครั้งแรกที่ทำให้เราได้เปิดสู่โลกภายนอก เพราะบทบาทในสถาบันยานยนต์ทำให้เราได้สัมผัสและทำงานร่วมกับหลากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน เนื่องจากเป็นองค์กรกลางที่จะเข้าไปสนับสนุนและช่วยเหลือ รวมถึงวางทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งตลอดช่วงเวลา 2 ปีนั้น นับเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ”
ที่เพียงใจบอกว่าช่วงเวลา 2 ปีดังกล่าว เพราะหลังจากนั้นในปี 2548 เธอได้กลับมายังถิ่นเก่าชายคานิสสันอีกครั้ง แม้เจ้าของบ้านจะไม่ใช่กลุ่มสยามกลการอีกแล้ว เนื่องจากนิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้ามาซื้อกิจการและดำเนินธุรกิจเอง ภายใต้ชื่อบริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด
การกลับมาครั้งนี้ดูแลระดับนโยบายมากขึ้น ในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ จึงต้องติดต่อประสานงานกับทางภาครัฐ รวมถึงบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยกัน ซึ่งเหตุผลที่นิสสันเลือกเราเพราะมีประสบการณ์ตรงจากสถาบันยานยนต์ และเคยทำงานกับสยามนิสสันฯ มาตลอด แม้จะเปลี่ยนผู้ถือหุ้นแต่องค์กรยังเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ บุคลากร หรือทีมงานเดิมๆ จึงรู้จักระบบงานของนิสสันเป็นอย่างดี
นอกจากบทบาทดังกล่าว เพียงใจยังได้รับมอบหมายให้เข้าไปช่วยงานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และต่อมาได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสม ผ่านการทำงานในแวดวงมาพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงที่อยู่ในสถาบันยานยนต์ ได้ทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ จึงเป็นที่รู้จักและคุ้นเคย รวมถึงเข้าใจความต้องการของภาคเอกชนและรัฐเป็นอย่างดี จึงได้รับการเลือกตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มา
เมื่อถามถึงการแยกบทบาทที่ต้องทำงานให้นิสสัน กับการเป็นประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เพียงใจบอกว่า เมื่อเราเป็นประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ จะต้องวางตัวเป็นกลางและทิ้งความเป็นนิสสันไป ซึ่งแน่นอนบริษัทที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม ต่างก็มีเป้าหมายความต้องการของตัวเองซ้อนอยู่ เพื่อต่อรองหรือเรียกร้องความต้องการผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไปยังภาครัฐ ดังนั้นเมื่อเรามาอยู่ตรงนี้จะต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน และได้ประโยชน์เหมือนๆ กัน ไม่ใช่ได้เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
จากบทบาทหน้าที่ทั้งในนิสสันและกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงน่าสงสัยว่าเพียงใจมีปัญหาหรือต้องวางตัวลำบากแค่ไหน เมื่อต้องทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจยานยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งแวดล้อมไปด้วยบรรดาวิศวกรที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายทั้งนั้น
“ไม่มีปัญหาเพราะที่ผ่านมาก็ทำงานร่วมกันโดยตลอด จึงค่อนข้างจะเข้าใจธรรมชาติของผู้ชายพอสมควร และอุปนิสัยส่วนตัวก็เป็นคนสบายๆ ยิ้มอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับเชื่อในหลักการที่ว่าการเข้ากับคนหรือสังคม เป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำให้ดีที่สุด ดังนั้นเราต้องเปิดตัวเองก่อน ถ้าเราไม่เริ่มคนอื่นก็จะไม่เปิดใจให้แก่เรา แต่นั่นต้องมาจากความจริงใจที่มีให้ต่อกัน ซึ่งที่สุดเราก็จะได้รับความจริงใจกลับมา อย่างไรก็ตามเราก็ต้องมีจุดยืนของตัวเองหากเห็นว่าสิ่งนั้นถูกต้อง”
“จริงๆ แล้วความเป็นผู้หญิงไม่ใช่อุปสรรค และสิ่งที่โดดเด่นคือความละเอียดอ่อนที่มีมากกว่าเสียอีก และขณะเดียวกันแนวคิด หรือการแสดงออกก็ไม่แพ้ผู้ชาย บางอย่างก็อาจจะดีกว่าเสียอีก ดังจะเห็นทุกวันนี้ทั้งในบริษัทเอกชนและภาครัฐ มีผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำมากขึ้นเรื่อยๆ”
แต่การที่เพียงใจต้องทำงานทั้งที่นิสสันต้นสังกัด และยังต้องดูแลประสานประโยชน์ให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ นับว่าเป็นภาระที่หนักหนาทีเดียวสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง จึงน่าสงสัยว่าเธอจัดสรรชีวิตระหว่างการทำงานกับครอบครัวอย่างไร?
“ปกติจะทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น หรือมืดค่ำไปเลยก็เป็นประจำ แต่มีหลักว่าเมื่อกลับถึงบ้านงานทุกอย่างต้องเก็บหมด เราต้องแยกบทบาทให้ออก และโชคดีครอบครัวน่ารัก ไม่ว่าจะเป็นสามี หรือลูกสาวทั้งสองคนต่างเข้าใจดี เหตุนี้ครอบครัวเราจึงอบอุ่นมาก”
และเมื่อถามถึงกิจกรรมยามว่างจากภาระหน้าที่การงาน เพียงใจบอกว่า ตอนนี้กำลังสนุกกับการเล่นกอล์ฟมาก คือได้ตกลงกับเพื่อนคู่กายคู่ใจที่เป็นตำรวจ เมื่อเขาเกษียณเราจะต้องพยายามไปเล่นกอล์ฟด้วยกันทุกสัปดาห์ ซึ่งตอนนี้เราก็ทำอย่างที่ตั้งใจไว้
“อาจจะสงสัยเล่นกอล์ฟสนุกตรงไหน โดยเฉพาะผู้หญิงอย่างเราๆ เพราะแดดก็ร้อนเหงื่อออกเต็มจนเสื้อเปียกโชกไปหมด นั่นไม่ใช่ประเด็น สิ่งที่เราได้กลับมาคือการผ่อนคลาย โดยเฉพาะอากาศยามเช้าเวลาเดินในสนามหญ้า มันมีความสุขมาก”
“อีกกิจกรรมที่ชอบคือเลี้ยงกล้วยไม้ เจอที่ไหนไม่ได้ต้องซื้อกลับมาเลี้ยงตลอดเวลา จึงมีหลายพันธุ์หลายแบบมากพอสมควร โดยจะเลี้ยงไว้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เพราะเห็นดอกกล้วยไม้แล้วรู้สึกสดชื่นและมีความสุข คงได้มาจากคุณพ่อที่ท่านชอบและทำให้เราเห็น อย่างแคทรียาที่หนึ่งปีจะออกดอกที เวลาออกดอกแต่ละปีจะดีใจมาก และเชื่อว่าเป็นโชคลางที่ดี เมื่อมันตายไปก็เลยหามาปลูกแทน และอยากจะให้มันออกดอกเช่นเดียวกัน จนกลายมาเป็นความชอบไปโดยปริยาย”
แต่กล้วยไม้ถือเป็นสิ่งที่ปลูกยาก และคนส่วนใหญ่จะได้ชื่นชมดอกก็เมื่อตอนซื้อมาเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็จะไม่เห็นออกดอกอีกเลย จึงสงสัยว่าเธอมีกลเม็ดเคล็ดลับอะไร ซึ่งเพียงใจก็ยิ้มเช่นเคย ก่อนตอบว่า
“ ไม่มีเคล็ดลับอะไร ตอนซื้อมาก็ถามคนขายว่าจะทำอย่างไรให้ออกดอกอีก เราก็ทำตามนั้นอย่างจริงจังและเอาใจใส่ ปรากฏว่าส่วนใหญ่ก็กลับมาออกดอกอีก อาจจะเป็นเพราะเรามุ่งผล คือมีความตั้งใจจะทำให้มันออกดอกเหมือนตอนที่ซื้อมา เพราะเวลาเห็นกล้วยไม้ที่เราเลี้ยงออกดอกแล้ว รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก มันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง”
จากลักษณะอุปนิสัยของเพียงใจ ที่มุ่งมั่นกับการทำอะไรสักอย่าง อย่างมีระบบและเต็มที่เช่นนี้ ทำให้ ดอกไม้ในม่านเหล็ก อย่างเธอ จึงสามารถเติบโตและสวยงามได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว!!