กรมอนามัยหนุนขนมไทยอ่อนหวาน มอบประกาศนียบัตรร้านผู้ประกอบการทำขนมไทย จ.สมุทรสงคราม ปรับสูตรขนมหวาน 10 เมนู ทั้งถั่วแปบ ขนมชั้น ข้าวตู ฯลฯ ลดน้ำตาล กะทิ เกลือ 25% แต่อร่อยเหมือนเดิม หวังปรับพฤติกรรมติดหวาน มัน เค็ม
วันที่ 29 ธันวาคม ที่กรมอนามัย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการเปิดตัวขนมไทยอ่อนหวานและมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ประกอบการผู้ผลิตขนมไทยว่า กรมอนามัยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการรณรงค์ การผลิตขนมไทยสูตรดั้งเดิม แต่ลดน้ำตาลลงเพื่อให้ขนมไทยเป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาลแบบฟุ่มเฟือย โดยบริโภคน้ำตาลเกินกว่ามาตรฐานกำหนด 3 เท่า คือ บริโภคน้ำตาลสูงถึงคนละ 29.6 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 20 ช้อนชา ขณะที่ค่ามาตรฐานกำหนดให้บริโภคได้ไม่เกินคนละ 10 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 6-8 ช้อนชาเท่านั้น ส่งผลให้มีคนไทยอ้วนลงพุง 10 ล้านคน ทำให้เกิดโรคเรื้อรังตามมาเช่น โรคหัวใจ เบาหวานความดันสูง ไขมันในเส้นเลือดอุดตัน เป็นต้น
“โดยเร็วๆ นี้ กรมอนามัยจะร่วมมือกับ สสส.เพื่อจัดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตขนมไทยทั้งประเทศให้ผลิตขนมอ่อนหวาน และตั้งแต่ในปี 2552นี้ ทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นหน่วยงานแรกที่นำร่องในการรณรงค์ใช้ขนมไทยอ่อนหวาน ผลไม้สด และน้ำสมุนไพรไม่หวาน ในการจัดเลี้ยงทุกกิจกรรมแทนคอฟฟี่เบรกและเบเกอรี่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวอย่างที่ดีในการเลือกบริโภคแต่อาหารที่ไม่ทำร้ายสุขภาพ และเป็นการช่วงส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอีกช่องทางหนึ่ง” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ด้านนายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการศูนย์บริหารแผนงานโภชนาการเชิงรุก ของกรมอนามัย และสสส.กล่าวว่า นักวิชาการจากกองโภชนาการร่วมทำงานในแผนโภชนาการเชิงรุก เริ่มพัฒนาสูตรขนมไทยที่ จ.สมุทรสงคราม โดยลดปริมาณน้ำตาล กะทิ เกลือ ที่ให้ลดหวาน มัน เค็ม ลงร้อยละ 25 แต่ขนมยังอร่อยและคงตัวเหมือนเดิม โดยได้นำร่องผลิตขนมไทยอ่อนหวาน 10 ชนิด ได้แก่ ถั่วแปบ ขนมชั้น ข้าวตู ทองเอก เม็ดขนุน ขนมใส่ไส้ ขนมกล้วย เผือกกวน ถั่วกวน และหยกมณี เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกอร่อยได้ แต่ก็ได้รับพลังงานจากขนมหวานลดลงด้วย
“ขนมหวานทั้ง 10 ชนิด เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ร้านค้า และแม่ค้าที่ปรับเปลี่ยนสูตรขนมไทยให้อ่อนหวานลง โดยได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ในขณะที่ผู้ผลิตขนมเองก็ลดต้นทุนการใช้น้ำตาลในการผลิตขนมได้มาก ทำให้มีกำไรเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน” นายสง่ากล่าว
นายสง่า กล่าวด้วยว่า สำหรับปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันนั้น ร่างกายต้องการพลังงานเฉลี่ย วันละ 1,600-2,000 กิโลแคลอรี ในจำนวนนี้เป็นพลังงานจากอาหารว่าง หรือขนม ไม่เกิน ร้อยละ 10 หรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี โดยปริมาณขนมไทยที่แนะนำให้รับประทานต่อวันเพื่อไม่ให้ได้รับพลังงานเกินความต้องการ เช่น ทองเอก 4 ชิ้น ได้พลังงาน 96 กิโลแคลอรี ปุยฝ้าย 7 ชิ้น ได้พลังงาน 102 กิโลแคลอรี หม้อแกง 1 ชิ้น ได้พลังงาน 102 กิโลแคลอรี หยกมณี 3 ชิ้น 95 กิโลแคลอรี ขนมชั้น 1 ชิ้น ได้พลังงาน 115 กิโลแคลอรี เม็ดขนุน 6 ชิ้น ได้พลังงาน 113 กิโลแคลอรี เป็นต้น