xs
xsm
sm
md
lg

ทีม “iRAP_PRO” มจพ.เจ๋ง! คว้าแชมป์หุ่นกู้ภัยถ้วยพระราชทาน ลอยลำป้องกันแชมป์โลกสมัย 4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมiRAP_PRO จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
“iRAP_PRO” คว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัย รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เตรียมแพ็กกระเป๋าไปป้องกันแชมป์โลกสมัยที่ 4 ที่ประเทศออสเตรียกลางปีหน้า ขณะที่ทีมเยือนจากญี่ปุ่นและอิหร่าน คว้าที่สองและสาม พร้อมกวาดรางวัลพิเศษไปครองร่วมกับทีมจาก ม.มหิดล

วันนี้ (14 ธ.ค.) เมื่อเวลา 16.55 น.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ถึงอาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อทรงปิดการแข่งขันและพระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์แห่งประเทศไทย (Thailand Rescue Robot Championship 2008) รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งทำการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 11-14 ธ.ค.2551 โดยมีเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ร่วมกับสมาคมวิขาการหุ่นยนต์ไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันจัดขึ้น ในปีนี้มีทีมเยาวชนไทยผ่านเข้ารอบทั้งสิ้น 8 ทีม จากผู้เข้าร่วมแข่งขัน 77 ทีม 49 สถาบัน และต่างประเทศจากประเทศญี่ปุ่น 1 ทีม และประเทศอิหร่าน 2 ทีม

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรนิทรรศการหุ่นยนต์และการสาธิตการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย จากนั้น นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายหุ่นยนต์กู้ภัยจำลอง ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับโดยประทับรถยนต์พระที่นั่งในเวลา 17.30 น.

สำหรับผลการแข่งขัน และรายชื่อทีมชนะเลิศและได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน ได้แก่ ทีม iRAP_PRO จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับทุนการศึกษา 200,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก (Robocup) 2009 ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรียกลางปี 2552

รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ เยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อทีมNuTech-R นอกจากนี้ ยังคว้ารางวัลพิเศษ คือ Best Mobility (เทคนิคยอดเยี่ยม) ซึ่งให้กับหุ่นยนต์ที่มีสมรรถนะในการเคลื่อนที่บนพื้นผิวขรุขระได้ดีเยี่ยม รองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ MRL จากประเทศอิหร่าน

สำหรับรางวัลหุ่นยนต์อัตโนมัติยอดเยี่ยม (Best Autonomous) สำหรับหุ่นยนต์อัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งทีมที่คว้าทั้ง 2 รางวัลนี้ ได้แก่ เยาวชนจากประเทศไทย ชื่อทีม BARTLAP Rescue จากมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท คู่กับทีม MRL จากประเทศอิหร่าน

ผศ.ดร.จักกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า หุ่นยนต์ไทยในปีนี้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ทั้งทีมไทยและทีมจากต่างประเทศสามารถประดิษฐ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคะแนนตลอดการแข่งขันที่ผ่านมาทีมไทยส่วนใหญ่ทำคะแนนได้เกาะกลุ่มกัน ซึ่งทีมต่างประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันต่างก็ทึ่งในความสามารถของเด็กไทย และเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกได้

ด้านดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) กล่าวถึงทิศทางการแข่งขันหุ่นยนต์ของประเทศไทย ว่า มีแนวโน้มว่าหุ่นยนต์อัตโนมัติจะได้รับการพัฒนามากขึ้น ทั้งในแง่การกู้ภัยและการตัดสินใจของหุ่นยนต์ อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบหุ่นยนต์กู้ภัยของเยาวชนไทยกับต่างประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันพบว่า ทีมไทยยังขาดในเรื่องอุปกรณ์ และขาดระบบอุตสาหกรรมที่เข้ามาต่อยอดเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ได้

“อย่างไรก็ตาม การคว้าแชมป์โลกของเยาวชนไทย 3 ปี ซ้อนสะท้อนให้เห็นว่าวัตถุดิบเป็นเพียงจุดด้อยเล็กเท่านั้น เนื่องจากเยาวชนไทยมีความพากเพียรและใฝ่รู้ นั่นหมายความว่าครึ่งหนึ่งเราสู้เขาได้ แต่อีกครึ่งหนึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันจากรัฐบาลและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง มิเช่นนั้นการได้แชมป์โลกก็เป็นเพียงไฟไหม้ฟาง” ดร.ชิต กล่าว

นายอาทิตย์ ตระกูลธงชัย รองหัวหน้าทีม iRAP_PRO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า รู้สึกประทับใจมากที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปป้องกันแชมป์โลกสมัยที่ 4 เนื่องจากรอเวลานี้มา 4 ปีเต็มแล้ว การได้รางวัลชนะเลิศพร้อมถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติกับครอบครัว

สำหรับการเตรียมตัวก่อนการแข่งขันนั้น ทีม iRAP_PRO ได้ออกแบบหุ่นยนต์ตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ทุกประการ โดยสมรรถภาพถือว่าไม่ได้โดดเด่นกว่าเพื่อนทีมอื่น แต่จุดที่ทำให้สามารถคว้าชัยมาได้คือการไม่มองข้ามรายละเอียดเล็กน้อย และการทำงานเป็นทีม ทั้งนี้ไม่รู้สึกกดดันเมื่อเป็นตัวแทนประเทศไทย เพียงแต่การเตรียมตัวจะต้องพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ

“ข้อดีของการแข่งชิงแชมป์ประเทศไทยปีนี้ ก็คือ มีเพื่อนจากญี่ปุ่น และอิหร่าน มาร่วมแข่งขันด้วย ทำให้เรารู้ว่าพัฒนาการหุ่นยนต์ของต่างประเทศก้าวหน้าไปแค่ไหน จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องนำไปพัฒนาต่อไป” นายอาทิตย์ กล่าว

อนึ่ง โครงการประกวดหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมที่เครือซิเมนต์ไทย(SCG) ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศตั้งแต่ปี 2546 และที่ผ่านมาทีมเยาวชนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แสดงศักยภาพให้ต่างชาติได้เห็นด้วยการคว้าแชมป์โลกมาแล้ว 3 สมัยติดต่อกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น