หมู่บ้านเบญจรงค์ ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร สาเหตุที่ได้ชื่อว่าหมู่บ้านเบญจรงค์นั้น ก็เพราะชุมชนแห่งนี้เป็นกลุ่มอาชีพที่ทำเครื่องเบญจรงค์คุณภาพดีที่มีจุดกำเนิดมาจาก 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มดั้งเดิมที่เป็นตระกูลเก่าแก่เชื้อสายจีน ซึ่งทำเครื่องลายครามอยู่ก่อนแล้ว ส่วนอีกกลุ่ม คือ บรรดาลูกจ้างที่เคยทำงานที่โรงงานเสถียรภาพ หรือ โรงชามไก่ เป็นโรงงานผลิตถ้วยชามขนาดใหญ่ และปัจจุบันได้เลิกกิจการไปแล้ว
ลูกจ้างที่มีฝีมือในการทำถ้วยชามเหล่านี้ จึงรวมตัวกันเกิดเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ผลิตเครื่องถ้วยชามเขียนลายแบบอย่างเบญจรงค์ จนพัฒนาฝีมือขึ้นมาเรื่อยๆ และตั้งตัวเป็นกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ พร้อมกับเปิดเป็นศูนย์สาธิตการเยี่ยมชมการผลิต
ด้วยความพิถีพิถันในการทำเครื่องเบญจรงค์ทุกขั้นตอนให้ได้เครื่องเบญจรงค์ที่มีคุณภาพดี จึงทำให้หมู่บ้านเบญจรงค์ ต.ดอนไก่ดี ได้รับรางวัลชนะเลิศ “หนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล” และรางวัลโอทอประดับ 5 ดาวในปี พ.ศ.2546
“อุไร แตงเอี่ยม” ประธานกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์และเจ้าของร้าน อุไรเบญจรงค์ เผยถึงกรรมวิธีการผลิตเครื่องเบญจรงค์อย่างคร่าวๆ ให้ได้ฟังกันว่า สมัยก่อนนั้นเครื่องเบญจรงค์ก็คือถ้วยชามที่วาดลวดลายด้วยสีทั้ง 5 คือ ดำ แดง เขียว เหลือง ชมพู แต่ปัจจุบันเทคนิคการผสมสีมีมากขึ้นจึงทำให้เกิดสีและลวดลายใหม่ๆขึ้นมาเพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค
“ ที่นี่จะสั่งซื้อเครื่องปั้นสองอย่างคือเครื่องขาว (ถ้วย ชาม หรือรูปทรงต่างๆที่จะนำมาทำเครื่องเบญจรงค์ โดยสีของมันจะเป็นสีขาว) และศิลาดล (สีเขียว) หรือเรียกอีกอย่างว่า เบญจศิลาดล จากพ่อค้าในจังหวัดมาก่อน แล้วจึงทำการวาดลายซึ่งจะเป็นการวาดสดไม่มีการร่างแบบใดๆ ทั้งสิ้น ช่างที่จะวาดนั้นเป็นช่างที่มีประสบการณ์มานานทางด้านนี้ ส่วนช่างรุ่นใหม่ก็มี ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเพาะช่างที่จบมาทางด้านนี้โดยเฉพาะ สีที่ใช้เป็นสีฝุ่นนำเข้ามาจากต่างประเทศเพราะสีจะไม่ตกหากนำไปเผาไฟ และจะไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างใดๆ ทั้งสิ้น ” ป้าอุไรกล่าว
ป้าอุไรบอกว่าลายที่วาดนั้นก็จะมีทั้งลายไทยดั้งเดิม และลายประเพณี ซึ่งลายก็จะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากนั้นจะนำเข้าเตาเผาโดยการเผา 6 ชั่วโมงและทิ้งไว้ให้เย็นอีก 6 ชั่วโมง ประมาณการว่าเครื่องเบญจรงค์ชิ้นหนึ่งใช้เวลาทำ 5 วัน ถ้าเป็นขนาดใหญ่ก็แล้วแต่รูปทรงของมัน ข้อดีของเบญจรงค์คือสามารถใช้งานได้นาน โดยสีจะคงอยู่เหมือนเดิม แต่ข้อเสียคือไม่สามารถนำไปเข้าไมโครเวฟเพราะจะทำให้เครื่องเบญจรงค์เสียหาย
ทางด้านของการส่งออกนั้นประเทศที่มียอดสั่งซื้อมากที่สุด คือ ประเทศญี่ปุ่นรองลงมาก็จะเป็น อิตาลี จีน เยอรมัน ลายที่สั่งส่วนใหญ่จะเป็นลายไทยดั้งเดิมชาวต่างชาติจะชื่นชอบเป็นพิเศษ เช่น ลายเทพพนมเหรียญ ลายไม้เลื้อย ลายจักรี ฯลฯ และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของป้าอุไรคือการทำเครื่องเบญจรงค์น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสครองราชย์ครบ 60 ปี
“ป้าทำเครื่องเบญจรงค์ถวายพระองค์ท่านอยู่บ่อยๆ โดยจะถวายไปที่สำนักพระราชวังแล้วก็จะมีหนังสือตอบกลับมาว่า พระองค์ท่านได้รับแล้วและทรงขอบใจมาด้วย ก็รู้สึกดีใจมากที่ได้ทำถวายพระองค์ท่าน” ป้าอุไรกล่าวด้วยความปีติ
ในกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์นี้ ประกอบไปด้วย สมาชิกกว่า 100 คน แบ่งเป็นร้าน 5 ร้าน มีร้านแดงเบญจรงค์ ร้านหนูเล็กเบญจรงค์ ร้านยืนยงเบญจรงค์ ร้านสังวาลย์เซรามิค โดยทุกคนจะเกื้อหนุนซึ่งกันและกันไม่แบ่งเป็นพรรคเป็นฝ่าย
“ถ้ามีลูกค้ามาเยี่ยมชมก็จะแบ่งกันไปชมแต่ละบ้านให้ลูกค้าได้รับข้อมูลเหมือนๆ กัน หากมีออเดอร์มาจากต่างประเทศก็จะแบ่งกันไปทำไม่แย่งลูกค้ากัน เราเน้นดำรงชีวิตแบบพอเพียงตามพระราชดำรัสของในหลวง ไม่ฟุ่มเฟือย และฟุ้งเฟ้อ”
นอกจากนี้ อีกรายได้หนึ่งของกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์ ก็คือ โฮมสเตย์ ที่จะเปิดให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่สนใจวิธีการทำเครื่องเบญจรงค์เข้ามาพัก และจะมีกิจกรรมให้ทำกันคือ การทำเครื่องเบญจรงค์ โดยจะสอนวิธีการวาดลายและการลงสี เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะให้ทุกคนนำกลับไปเป็นที่ระลึก ซึ่งจะเปิดรับผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน ส่วนคณะทัวร์ที่สนใจจากประเทศต่างๆ ก็สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ โดยรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็จะมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา และอีกส่วนก็จะนำไปซื้อเครื่องซักผ้าให้ทหารใน จ.ยะลา